คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 505/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะ จำคุก 6 เดือนและปรับ 500 บาท ฐานยิงปืนในหมู่บ้าน ปรับ 250 บาท ฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน จำคุก 2 เดือน และปรับ 500 บาท รวมจำคุก 1 ปี 8 เดือนและปรับ 3,250 บาทและให้รอการลงโทษจำเลยไว้ภายในกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะจำคุก 3 เดือนฐานยิงปืนในหมู่บ้าน ปรับ 250 บาท ฐานขัดขวางเจ้าพนักงานจำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 10 เดือน ปรับ 250 บาทโดยไม่รอการลงโทษ เป็นความผิด 4 กระทง แต่ละกระทง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แม้ศาลอุทธรณ์จะแก้เป็นไม่รอการลงโทษ จำเลยก็ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกระทงกล่าวคือ (ก) จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองพกขนาด ๑๒ จำนวน ๑ กระบอกไม่มีเครื่องหมายทะเบียนอาวุธปืนประทับและกระสุนปืนขนาด ๑๒จำนวน ๑ นัด ไว้ในความครอบครองของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย (ข) จำเลยได้บังอาจพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวในข้อ (ก) ติดตัวไปในหมู่บ้านและในถนนอันเป็นทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและมิใช่กรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ (ค) จำเลยได้บังอาจยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดจากเครื่องกระสุนปืนดังกล่าว ๑ นัดในหมู่บ้านโดยใช่เหตุ (ง) จำเลยบังอาจขัดขวางไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตรวจและยึดอาวุธปืนดังกล่าวได้เข้ายื้อแย่งอาวุธปืนและไม่ยอมให้เจ้าพนักงานจับจำเลยเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้และยึดได้อาวุธปืน ๑ กระบอก ปลอกกระสุนปืน ๑ นัด ซึ่งจำเลยมีไว้และใช้ในการกระทำผิดดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๖, ๗ และฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ข้อ ๔ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๖, ๑๓๘, ๙๑, ๓๒, ๓๓ ขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนในความครอบครองพร้อมเครื่องกระสุนปืน จำคุก ๒ ปี ปรับ ๔,๐๐๐ บาท ฐานพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก ๑ ปี และปรับ ๑,๐๐๐ บาท ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในหมู่บ้านปรับ ๕๐๐ บาท ฐานขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำคุก ๔ เดือนและปรับ ๑,๐๐๐ บาท รวมจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน และปรับ ๖,๕๐๐ บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง จำคุก ๑ ปี ๘ เดือน ปรับ ๓,๒๕๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙, ๓๐ ของกลางริบ โทษจำคุกให้รอไว้ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๖ ให้จำคุก ๑ ปี ลงโทษตาม มาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๓, ๗ให้จำคุก ๖ เดือน ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๖ ให้ปรับ ๕๐๐ บาท ลงโทษตามมาตรา ๑๓๘ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ข้อ ๔ จำคุก ๒ เดือน รวมเป็นโทษจำคุก ๑ ปี ๘ เดือน และปรับ ๕๐๐ บาท จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑๐ เดือนปรับ ๒๕๐ บาท โดยไม่รอการลงโทษนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนจำคุก ๑ ปี และปรับ ๒,๐๐๐ บาท ฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะจำคุก ๖ เดือน และปรับ ๕๐๐ บาท ฐานยิงปืนในหมู่บ้าน ปรับ ๒๕๐ บาท ฐานขัดขวางเจ้าพนักงานจำคุก ๒ เดือน และปรับ ๕๐๐ บาท รวมจำคุก ๑ ปี ๘ เดือน และปรับ ๓,๒๕๐ บาท และให้รอการลงโทษจำเลยไว้ภายในกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืน จำคุก ๖ เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะ จำคุก ๓ เดือน ฐานยิงปืนในหมู่บ้านปรับ ๒๕๐ บาท ฐานขัดขวางเจ้าพนักงานจำคุก ๑ เดือน รวมจำคุก ๑๐ เดือน ปรับ ๒๕๐ บาทโดยไม่รอการลงโทษ จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้เป็นความผิด ๔ กระทงแต่ละกระทงศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แม้ศาลอุทธรณ์จะแก้เป็นไม่รอการลงโทษ จำเลยก็ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๖ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย

Share