คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5045/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินให้โจทก์โดยกำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ในหนังสือสัญญาจะซื้อขายการที่โจทก์นำสืบว่ามีการเลื่อนกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์จากวันที่กำหนดไว้ในสัญญาหาใช่นำสืบว่าวันที่กำหนดโอนไว้ในสัญญาไม่ใช่วันที่ระบุไว้ในสัญญาจึงมิใช่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94(ข)โจทก์ย่อมนำพยานบุคคลมาสืบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 436ร่วมกับคนอื่น เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 จำนวน 5 ไร่ 2 งานเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นเงิน 578,000 บาท วางมัดจำในวันทำสัญญา 300,000 บาท ตกลงโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 10 มกราคม 2533พร้อม ชำระส่วนที่เหลือ ถึงวันนัด จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนเป็นวันที่ 17 เมษายน 2533 และขอเลื่อนอีกหลายครั้งโดยอ้างว่าที่ดินติดจำนองและแบ่งแยกไม่เสร็จ ต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคม 2533 โจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2533 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่436 ตำบลบึงบอน อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานีระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์ หากโอนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำ 300,000 บาทและให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเป็นเงิน 300,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์แล้ว โจทก์มาขอลดราคาที่ดินลงจากที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ไม่ตกลงด้วย โจทก์จึงขอเลื่อนการโอนที่ดินออกไป แต่จำเลยที่ 1ไม่ยอม ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2533 ซึ่งเป็นกำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี และรออยู่จนกระทั่งถึงเวลาเลิกทำการ แต่โจทก์ผิดนัดไม่ยอมไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ 1 ไม่เคยขอเลื่อนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่โจทก์อ้าง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์และขายที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1แต่ไม่เคยรู้จักกับโจทก์หรือจำเลยที่ 1 มาก่อน และไม่รู้เห็นการทำสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้สมคบกับจำเลยที่ 1 ทำการฉ้อฉลโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 600,000 บาทแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบรับกันฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2532 จำเลยที่ 1ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่นเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน กับโจทก์ในราคา578,000 บาท วางเงินมัดจำในวันทำสัญญา 300,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 10 มกราคม 2533ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 มีข้อสัญญาว่า ถ้าผู้ซื้อผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนรับซื้อตามกำหนด ยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำ แต่ถ้าผู้จะขายผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายตามกำหนดยอมใช้ค่าเสียหายให้ผู้จะซื้อ 600,000 บาท เมื่อถึงกำหนดวันที่ 10 มกราคม 2533 ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ เห็นว่าทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างอ้างว่า อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายขอเลื่อนกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีปัญหาว่าโจทก์มีเงินพอที่จะชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือหรือไม่ สำหรับการที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินตามเอกสารหมาย ล.1 ว่า จำเลยที่ 1ได้ไปรอที่สำนักงานที่ดินในวันที่ 10 มกราคม 2533 แล้วแต่โจทก์ไม่ได้มาตามนัดนั้น แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่จำเลยที่ 1 เพิ่งทำหนังสือแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินในวันที่ 26 เมษายน 2533 หลังจากวันตกลงโอนกรรมสิทธิ์ 3 เดือนเศษ เป็นข้อพิรุธ ซึ่งโจทก์นายอยู่ กล่ำประเสริฐ บิดาโจทก์และนางสอาด กล่ำประเสริฐภริยาโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องกันว่า ก่อนถึงกำหนดวันโอนวันที่ 9 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 มาขอเลื่อนการโอนกับโจทก์เนื่องจากยังแบ่งแยกที่ดินไม่เสร็จ และขอเงินอีก 20,000 บาทเพื่อนำไปแบ่งแยกที่ดิน และต่อมาจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนางพยูณรุจา กาญจนปัญจพล อีก ตามเอกสารหมาย ล.2และจำเลยที่ 1 ก็ขอเลื่อนการโอนเช่นกัน นางพยูณรุจา เบิกความว่าตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย ล.2 ระบุว่า จะมีการโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 25 พฤษภาคม 2533 แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าที่ดินพิพาทติดจำนองกับสหกรณ์จึงนัดโอนวันที่ 21 มิถุนายน 2533 ในระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขอเงินจากพยานรวมกับเงินที่วางมัดจำแล้วเป็นเงิน600,000 บาท อ้างว่าจะไปไถ่ถอนจำนอง แต่สำเนาโฉนดที่ดินที่นายสีนวลให้พยานดูนั้นไม่ปรากฎว่าที่ดินติดจำนองแต่อย่างใดจำเลยที่ 1 เบิกความว่า โจทก์ขอเลื่อนการโอนไป 3 เดือนแต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมวันที่ 10 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 มาที่สำนักงานที่ดินพร้อมกับนายองอาจซึ่งเป็นตัวแทนของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้องนำโฉนดที่ดินมาไถ่ถอนจำนอง ราคาที่ดินที่ขายแก่โจทก์เพียงพอที่จะไถ่ถอนจำนอง นายองอาจเบิกความว่า ในวันโอนหากโจทก์มาชำระเงินก็เพียงพอที่จะไถ่ถอนการจำนองกับสหกรณ์ได้ จึงขัดกับสำเนาโฉนดที่ดินที่นำมาให้นางพยูณรุจาดูว่าที่ดินไม่ได้ติดจำนองยิ่งกว่านั้นหนังสือสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยที่ 1 ได้ขอคำสั่งเรียกจากสำนักงานที่ดินมาในสำนวนปรากฎว่าชำระเงินจำนอง50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 แล้ว สหกรณ์อนุญาตให้ถอนจำนองได้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายบิดพลิ้วเพื่อที่จะเรียกร้องเอาเงินจากโจทก์ โดยอ้างเหตุแบ่งแยกโฉนดที่ดินและอ้างเหตุติดจำนอง คำเบิกความของจำเลยที่ 1 และนายองอาจจึงไม่อาจรับฟังได้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มาขอเลื่อนการโอนที่ดินพิพาทตามที่โจทก์นำสืบทั้งนี้เพราะราคาที่ดินสูงขึ้นเมื่อเทียบกับที่ทำสัญญาจะซื้อขายกับนางพยูณรุจาสูงขึ้นกว่าเท่าตัว พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ 1ฎีกาในข้อต่อมาว่า หากจะฟังว่ามีการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาโอนก็จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง จะรับฟังเพียงพยานบุคคลไม่ได้เห็นว่า โจทก์นำสืบว่ามีการเลื่อนกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์จากวันที่กำหนดไว้ในสัญญา หาใช่นำสืบว่าวันที่กำหนดโอนในสัญญาไม่ใช่วันที่ 10 มกราคม 2533 จึงมิใช่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) โจทก์ย่อมนำพยานบุคคลมาสืบได้”
พิพากษายืน

Share