คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติว่าในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สิน หากปรากฏว่า ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินแก่เจ้าของ ดังนั้น การใช้สิทธิตาม ป.อ. มาตรา 36 จึงเป็นการที่บุคคลภายนอกใช้สิทธิขอคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบโดยมิต้องคำนึงถึงว่า สิทธิของบุคคลภายนอกจะสืบเนื่องมาจากการกระทำอันเป็นการละเมิดหรือการผิดสัญญา ทั้งการที่ผู้ร้องไม่ใช้สิทธิทางแพ่งกับจำเลยที่ 1 และร้องขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืนก็เป็นเพียงการไม่ถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญาที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ร้องจะใช้หรือไม่ก็ได้ และเมื่อผู้เช่าซื้อผิดสัญญา ผู้ร้องย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินที่ให้เช่าซ้อหรือของกลางคืนได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 กับพวก ตามพระราชบัญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 134, 160 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 33 และริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน บทธ 432 กรุงเทพมหานคร ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ขอให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน บทธ 432 กรุงเทพมหานคร ของกลาง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 ผู้ร้องให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป ระหว่างอายุสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิดคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด การให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางเป็นวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของผู้ร้อง หลังจากผู้ร้องให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไปแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อเป็นผู้ครอบครองใช้สอยรถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้ร้องไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 1 จะนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดอย่างไรและเมื่อใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ผู้ร้องก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อเมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดคดีนี้อย่างไร ทั้งยังปรากฏจากคำเบิกความถามค้านของพันตำรวจโทมนต์ชัย บุญศักดิ์ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่าตามทางสอบสวนผู้ร้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดด้วย ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ฎีกาว่า การใช้สิทธิขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ควรเป็นกรณีที่เกิดจากนิติเหตุ เช่นจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดลักรถจักรยานยนต์ของผู้ร้องไปใช้กระทำความผิด และการที่ผู้ร้องไม่ไปใช้สิทธิทางแพ่งฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญากับจำเลยที่ 1 แต่กลับมาร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง เป็นการหลีกเลี่ยงการใช้บังคับกฎหมายอาญาและค่าธรรมเนียมศาล อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สิน หากปรากฏว่าผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินแก่เจ้าของ การแปลความกฎหมายทางอาญาจะต้องแปลโดยเคร่งครัดตามตัวอักษร จึงต้องพิจารณาเฉพาะข้อความที่กล่าวไว้ในมาตราดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น การใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 จึงเป็นการที่บุคคลภายนอกใช้สิทธิขอคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบโดยมิต้องคำนึงว่า สิทธิของบุคคลภายนอกจะสืบเนื่องมาจากการกระทำอันเป็นการละเมิดหรือการผิดสัญญา ทั้งการที่ผู้ร้องไม่ใช้สิทธิทางแพ่งกับจำเลยที่ 1 และร้องขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืน ก็เป็นเพียงการไม่ถือเอาประโยชน์จากข้อสัญญาที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ร้องจะใช้หรือไม่ก็ได้ และเมื่อผู้เช่าซื้อผิดสัญญา ผู้ร้องย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อหรือของกลางคืนได้ ยังไม่พอฟังว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายอาญาหรือหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมศาลและเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด เพราะกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share