คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3919/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1477บัญญัติว่าอำนาจจัดการสินสมรส รวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย ดังนั้นที่มาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ฯ ใช้คำว่าอำนาจจัดการก็ย่อมหมายความรวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วยเช่นกันแต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 1473 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม สามีซึ่งมีอำนาจจัดการสินบริคณห์หาแต่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ใช้บังคับ คงมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ต่อไปภายหลังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ใช้บังคับแล้ว หากการจำหน่ายสินบริคณห์นั้นไม่ใช่กรณีที่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473 เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2จดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2484 ระหว่างอยู่กินด้วยกันมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน น.ส.3 ก. 1 แปลง โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว เมื่อ พ.ศ. 2528 จำเลยที่ 2 แบ่งขายส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขาย ให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนที่ดินคืน แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ขอให้เพิกถอนทะเบียนซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองสมบูรณ์ตามกฎหมายจำเลยที่ 1 กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโจทก์ไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้ง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดิินแปลงพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ดินตาม น.ส.3ก. เลขที่ 1131 นั้นโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้มาในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันและมิใช่ได้มาในฐานะเป็นสินส่วนตัวจึงเป็นสินบริคณห์ของโจทก์และจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้ทรัพย์สินดังกล่าวมา แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 1476 จะบัญญัติว่า “นอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน” และมาตรา 1480วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ ” ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 7 บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้” ดังนั้น การที่บทบัญญัติในบรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติในมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 กรณีของคดีนี้ตามข้อเท็จจริงที่ยุติจำเลยที่ 2เป็นสามีโจทก์ มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1131ซึ่งเป็นสินบริคณห์อยู่ก่อนวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ จึงยังคงมีอำนาจจัดการสินบริคณห์รายนี้ได้ต่อไปตามที่มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519บัญญัติไว้ และอำนาจจัดการนั้น มาตรา 1477 ที่ได้ตรวจชำระใหม่บัญญัติไว้ว่า ให้รวมถึงอำนาจจำหน่ายด้วย ดังนั้นจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีโจทก์จึงมีอำนาจที่จะจำหน่ายที่ดินอันเป็นสินบริคณห์ได้ ที่ดินสินบริคณห์ที่พิพาทนี้มิใช่สินเดิมของโจทก์หรือสินสมรสที่โจทก์ได้มาโดยทางยกให้หรือพินัยกรรมและการจำหน่ายมิใช่เป็นการให้โดยเสน่หา จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อน ทั้งนี้ไม่เป็นการจัดการที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 1473 เดิม นิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปโดยชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้นโจทก์ไม่อาจที่จะมาฟ้องขอให้เพิกถอนได้”
พิพากษายืน

Share