คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2730/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ ค. มอบอำนาจช่วงให้ ท. มีอำนาจร้องทุกข์แทนมีข้อความว่า เพื่อให้มีอำนาจดำเนินการแทน “ผู้มอบอำนาจ” ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับหนังสือมอบอำนาจที่ทำขึ้นระหว่างผู้เสียหายกับ ค. แล้ว ก็ระบุในหนังสือมอบอำนาจว่า ผู้เสียหายเป็น “ผู้มอบอำนาจ” และ ค. เป็น “ผู้รับมอบอำนาจ” ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้เสียหายได้มอบอำนาจให้ร้องทุกข์โดยชอบหรือไม่ จึงต้องพิจารณาทั้งหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงประกอบกันมิใช่พิจารณาเฉพาะหนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับเดียว เมื่อ ท. แจ้งความร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย มิใช่ร้องทุกข์แทน ค. เป็นการส่วนตัว การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ของผู้เสียหายจึงชอบด้วยกฎมหาย และถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยการกระทำซ้ำงานเพลงลงเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลย แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดมามิใช่ของจำเลยที่ขายไป โจทก์ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่กล่าวหามาเป็นของกลาง พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศไทย ผู้เสียหายเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุในผลงานเพลง อมพระมาพูด ซึ่งได้มีการโฆษณางานดังกล่าวครั้งแรกที่ประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด หลังจากมีการโฆษณางานดนตรีกรรมเพลง อมพระมาพูด จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2547 เวลากลางวัน จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยการนำสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุที่มีเนื้อร้อง ทำนอง และภาพคาราโอเกะ ในผลงานเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปบันทึกลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ ในลักษณะทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย ให้สามารถนำมาเปิดให้ปรากฏเนื้อร้อง ทำนองเพลงและเล่นซ้ำได้อีก เพื่อให้บริการ ขาย เสนอขายแก่ลูกค้า เพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลเมืองพล อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 15, 27, 28, 30, 31, 69, 70, 76 จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนกึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายให้ดำเนินคดีแก่จำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงที่นายคณิต เหลืองศิริโรจน์ มอบอำนาจให้นายทรงยศ ปั้นเทียน มีอำนาจร้องทุกข์ตามเอกสารหมาย จ.6 นั้นไม่มีข้อความใดแสดงที่มาแห่งสิทธิหรือการได้รับมอบอำนาจของนายคณิต จากผู้เสียหาย การร้องทุกข์ของนายทรงยศจึงเป็นการร้องทุกข์ในกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ของนายคณิต ไม่ใช่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย นายทรงยศไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย เห็นว่า โจทก์มีพันตำรวจโทสวาสดิ์ นวลศรี พนักงานสอบสวนเบิกความว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2547 นายทรงยศได้แจ้งความร้องทุกข์กรณีมีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ตามหนังสือมอบอำนาจจากผู้เสียหาย เอกสารหมาย จ.6 และนายทรงยศให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามคำให้การเอกสารหมาย จ.9 เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของพันตำรวจโทสวาสดิ์ และคำให้การของนายทรงยศแล้วต่างเบิกความและให้การยืนยันว่า นายทรงยศร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย นอกจากนี้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงที่นายคณิตมอบอำนาจช่วงให้นายทรงยศมีอำนาจร้องทุกข์แทนก็ได้ทำขึ้นที่บริษัทผู้เสียหาย และระบุในหนังสือมอบอำนาจว่า นายคณิตเป็นผู้มอบอำนาจช่วง และนายทรงยศเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงกับมีข้อความว่า เพื่อให้มีอำนาจดำเนินการแทน “ผู้มอบอำนาจ” ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับหนังสือมอบอำนาจที่ทำขึ้นระหว่าง บริษัทผู้เสียหายกับนายคณิต เหลืองศิริโรจน์ แล้ว ก็ระบุในหนังสือมอบอำนาจในลำดับที่ 6 ว่า บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด เป็น “ผู้มอบอำนาจ” และนายคณิต เหลืองศิริโรจน์ เป็น “ผู้รับมอบอำนาจ” ดังนั้น การพิจารณาว่า ผู้เสียหายได้มอบอำนาจให้ร้องทุกข์โดยชอบหรือไม่จึงต้องพิจารณาทั้งหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงประกอบกันมิใช่พิจารณาเฉพาะหนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับเดียวตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาจึงฟังได้ว่านายทรงยศแจ้งความร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย มิใช่ร้องทุกข์แทนนายคณิตเป็นการส่วนตัว การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ของผู้เสียหายจึงชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่า นายทรงยศไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์แทนผู้เสียหายไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามอุทธรณ์โจทก์หรือไม่ ปัญหาข้อนี้แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้วินิจฉัยไว้ แต่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยต่างได้สืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ในวันที่ 16 มิถุนายน 2547 นายสมหมาย เนียนกลาง ไปซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากร้านจำเลย ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2547 นายสมหมายไปขอรับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ซื้อไว้ นายทรงยศพร้อมด้วยเจ้าพนักงานตำรวจจึงเข้าไปในร้านจำเลยทำการตรวจค้นและยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งมีงานเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอยู่ในเครื่องไป 2 เครื่อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยการกระทำซ้ำงานเพลงตามฟ้องของผู้เสียหายลงในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือไม่ คดีนี้โจทก์มีนายสมหมาย เบิกความว่า หลังจากตกลงซื้อแล้วพยานให้จำเลยลงโปรแกรมเกมและเพลงโดยช่างของร้านจำเลยเป็นผู้ลงให้ และในวันไปรับเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ช่างเปิดเครื่องดูปรากฏว่า มีเพลงของผู้เสียหายอยู่ในเครื่องที่ซื้อ ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ 1 ใน 2 เครื่อง ตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.4 เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้ง 2 เครื่องดังกล่าว จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลย แต่กลับปรากฏจากคำเบิกความของพันตำรวจโทสวาสดิ์ นวลศรี พนักงานสอบสวนว่า จำเลยให้การว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดมาไม่ใช่ของจำเลย แต่เป็นของลูกค้าที่นำมาซ่อมหลังจากสอบสวนเสร็จ มีญาติจำเลยมาขอคืนของกลาง พนักงานอัยการมีคำสั่งให้คืนของกลางดังกล่าว คำเบิกความของพันตำรวจโทสวาสดิ์ เจือสมกับคำเบิกความของจำเลยว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2547 นายสมหมายเข้ามาในร้านเปิดดูเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งไม่ใช่เครื่องที่นายสมหมายตกลงซื้อ หลังจากนั้น 10 นาที เจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาในร้านและยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีผู้นำมาซ่อม 2 เครื่อง ที่ไม่ใช่เครื่องที่นายสมหมายตกลงซื้อไป เห็นว่า พยานโจทก์ปากนายสมหมาย เบิกความยืนยันว่า จำเลยทำซ้ำงานเพลงของผู้เสียหายลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะซื้อ แต่เมื่อปรากฏว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง เป็นเครื่องของผู้อื่น มิใช่เครื่องที่นายสมหมายซื้อจากจำเลย และโจทก์ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทำซ้ำงานเพลงของผู้เสียหายมาเป็นของกลางพยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มั่นคง ลำพังคำเบิกความของนายสมหมายยังไม่พอรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share