คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5041/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกตินั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติแม้ตามระเบียบข้อบังคับ ของนายจ้างและสัญญาผู้เข้าทำงานของนายจ้างซึ่งลูกจ้างทำกับนายจ้าง จะให้อำนาจนายจ้างเลิกจ้างได้ ก็เป็นเพียงให้สิทธิไว้เท่านั้นถือไม่ได้ว่า ลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือสัญญาเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 กำหนดเพียงว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี มิได้มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดว่าถ้าลูกจ้างไม่ใช้สิทธิขอลาหยุดแล้วลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างดังกล่าว
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายกรณีเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ไม่ใช่เงินซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายทันที ที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าฉะนั้นนายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างได้บอกกล่าว หรือทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าได้บอกกล่าวหรือทวงถามลูกจ้างชอบที่จะได้ ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง
แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 จะกำหนดให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ก็ตาม แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ระบุขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยตามกฎหมาย โดยมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ชัดแจ้งทั้งโจทก์เรียกร้องเงินมาหลายประเภท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่างกันการที่ศาลให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์เจ็บป่วยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัด
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์เจ็บป่วยเป็นโรคจิตเภทอันเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบฯ ของจำเลย และสัญญาของผู้เข้าทำงานกับจำเลยการที่โจทก์ออกจากงานดังกล่าวถือว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และจำเลยได้จ่ายบำนาญแก่โจทก์แล้วซึ่งสูงกว่าค่าชดเชยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยซ้ำ โจทก์ไม่ใช้สิทธิขอลาหยุดพักผ่อนประจำปีเองจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีบางส่วนพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คำขออื่นให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์เจ็บป่วยซึ่งทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกตินั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของโจทก์ แม้ระเบียบการธนาคารออมสินฯจะให้อำนาจจำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากงาน หรือสัญญาของผู้เข้าทำงานธนาคารออมสินซึ่งโจทก์ทำกับจำเลยให้อำนาจจำเลยที่จะถอดถอนโจทก์ออกจากงานได้ก็ตาม เป็นเพียงข้อกำหนดให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้เท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดว่าโจทก์กระทำผิด ดังนั้นการที่โจทก์เจ็บป่วยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับหรือสัญญา จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่เคยผิดนัดหรือผิดสัญญา ทั้งโจทก์มิได้ทวงถามจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยนั้น
เห็นว่า ค่าชดเชยเป็นเงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๔๖ บังคับให้จำเลยจ่ายแก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๔๕ บังคับให้จำเลยจ่ายแก่ลูกจ้างที่เลิกจ้างเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทั้งสองประเภทให้แก่โจทก์ทันทีการที่จำเลยไม่จ่ายแก่โจทก์ จำเลยย่อมผิดนัดโดยโจทก์ไม่ต้องบอกกล่าวหรือทวงถามจำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่วันเลิกจ้าง ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินซึ่งจำเลยต้องจ่ายกรณีที่เลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ จึงไม่ใช่เงินซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายทันทีที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ฉะนั้น นายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างได้บอกกล่าวหรือทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวหรือทวงถามจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัด โจทก์ชอบที่จะได้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ใช้สิทธิขอลาหยุดพักผ่อนประจำปีเองโดยจำเลยมิได้ขัดขวางต้องถือว่าโจทก์สละสิทธิในการหยุดพักผ่อนนประจำปีไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างจากจำเลย เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๔๕ กำหนดเพียงว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ ๔๗ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศดังกล่าวมิได้ตั้งเงื่อนไขหรือข้อกำหนดว่าถ้าลูกจ้างไม่ใช้สิทธิขอลาหยุดพักผ่อนแล้ว ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้ร้บค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีฉะนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้ทำความผิดตามข้อ ๔๗ จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๓๑ กำหนดให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจึงไม่ถูกต้อง เห็นว่า แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๓๑ จะกำหนดให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปีก็ตาม แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ระบุขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยตามกฎหมายโดยมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ชัดแจ้ง ทั้งเงินที่โจทก์เรียกร้องมีหลายประเภท ซึ่งจำเลยต้องรับผิดในอัตราดอกเบี้ยต่างกัน การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน ๕,๐๘๒ บาทแก่โจทก์ และดอกเบี้ยของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นให้จำเลยรับผิดตั้งแต่วันฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share