คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2403/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 49 ที่ว่าด้วยการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างอาจขอให้ศาลสั่งนายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้ ใช้ค่าเสียหายแทนการขอกลับเข้าทำงานแต่คดีนี้แม้โจทก์บรรยายฟ้องอ้างเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่โจทก์มิได้ขอผล ตาม มาตรา 49. กลับยอมรับการสิ้นภาวะเป็นลูกจ้างและไม่ ติดใจเรียกค่าเสียหายตามที่มาตรา 49 ให้สิทธิไว้คง ติดใจเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582และเรียกค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานกับขอ เงินบำเหน็จและเงินค่าตำแหน่งอันเกิดแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งมิได้เกี่ยวด้วยการ เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมดังนั้นการที่จะพิจารณาว่าจำเลย เป็นผู้มีอำนาจเลิกจ้างและการเลิกจ้างได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาจ้างแรงงาน ที่การลงโทษโจทก์ถึงไล่ออกต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารของนายจ้างก่อนหรือไม่ก็หาเป็นประโยชน์แห่งคดีโจทก์ไม่ที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้ กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและไม่วินิจฉัยความสองข้อนั้นจึง ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย การเลิกจ้างทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จและเงินค่าตำแหน่ง ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยไม่เคยตกลงให้เงินค่าตำแหน่ง โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ละเลยไม่นำพาต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นอาจิณซึ่งเป็นกรณีที่ร้ายแรง อันเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายทั้งประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เสียหายอย่างร้ายแรงและเป็นการผิดสัญญา จึงมีเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่กลั่นแกล้งอันไม่เป็นธรรม จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์ทำงานยังไม่ครบห้าปีและถูกออกโดยมีความผิด จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าตำแหน่ง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด สาเหตุที่เลิกจ้างเป็นเพราะจำเลยไม่ต้องการจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ หากโจทก์ทำงานต่อไปจนครบห้าปี เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยเลิกจ้างโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 คำฟ้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 ที่ว่าด้วยการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งผลแห่งการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น โจทก์อาจขอให้ศาลสั่งจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไปหรือขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแทนการขอกลับเข้าทำงาน แต่คดีนี้แม้โจทก์บรรยายคำฟ้องอ้างเหตุตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 ก็ตามแต่โจทก์มิได้ขอผลตามมาตรา 49 โจทก์กลับยอมรับการสิ้นภาวะเป็นลูกจ้างไม่ติดใจเรียกค่าเสียหายตามที่มาตรา 49 ให้สิทธิไว้ คงติดใจเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เรียกค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน กับขอเงินบำเหน็จกับเงินค่าตำแหน่งอันเกิดแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งมิได้เกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเช่นกัน ดังนั้น การจะพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจเลิกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน การเลิกจ้างได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาการเป็นผู้สอนที่ว่าการลงโทษโจทก์ถึงไล่ออกต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 ก่อนหรือไม่ก็หาเป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และไม่วินิจฉัยความสองข้อนั้นชอบแล้ว
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 เข้ามาก้าวก่ายการปฏิบัติงานของโจทก์ ไม่พอใจโจทก์เป็นกรณีส่วนตัว จึงได้หาเหตุเลิกจ้างโจทก์เสียนั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังข้อเท็จจริงในสำนวนทั้งหมดอย่างแจ้งชัดเพียงพอโดยครบถ้วนตามพยานหลักฐานของโจทก์และไม่ควรรับฟังคำเบิกความของพยานจำเลยผู้ซึ่งให้การโอนความรับผิดและปรักปรำโจทก์นั้นเป็นอุทธรณ์โต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
เงินบำเหน็จเป็นเงินที่จะได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มิใช่ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 อันเป็นผลของกฎหมาย ที่มาแห่งสิทธิมีมูลต่างกัน โจทก์จะอ้างว่าถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจึงย่อมมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจึงไม่ถูกต้อง
พิพากษายืน

Share