คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 504/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ดังนี้ ปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความ จำเลยฎีกาว่า ศาลฎีกานำคำพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยไม่เห็นด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ส่วนที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลฎีกานำคำพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาฟังประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นพิจารณาแล้ว ฟังได้ว่าโจทก์ทราบถึงการกระทำผิด เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2528โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2528 จึงไม่เกินกำหนด 3 เดือนคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยไม่เห็นด้วยที่ศาลฎีกานำคำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลยนั้นเห็นว่า ปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้วที่วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีนี้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 แต่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ก็ยังคงบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่เช่นเดิมแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิด บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่ากฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิดกับจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้จำคุก6 เดือน และปรับ 30,000 บาท จำเลยรับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครอง ระดับ 5 และไม่เคยมีประวัติความประพฤติเสียหายหรือเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีเห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตาม มาตรา 29, 30

Share