คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยที่ 2 และ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุน อ. แม้วงเงินค้ำประกันจะไม่เท่ากัน โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อบรรษัทเงินทุน อ. อย่างลูกหนี้ร่วมกับ ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุน อ. แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว4,838,567.40 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัทเงินทุน อ. ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน ตามมาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์คนละ 1,612,855.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุน อ. จนกว่าจะชำระเสร็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2536 จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อลงทุนในโครงการผลิตภัณฑ์ซีอิ๊วขาวและเต้าเจี้ยว แต่มูลค่าหลักประกันของจำเลยที่ 1 ไม่เพียงพอจำเลยที่ 1 และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงขอให้โจทก์ค้ำประกันสินเชื่อโครงการของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ขาดหลักประกัน ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันเลขที่ 295/2536 เพื่อค้ำประกันการชำระหนี้สินเชื่อโครงการของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหรรมแห่งประเทศไทย ไม่เกินจำนวน 2,619,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยถึงวันที่คดีถึงที่สุด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ง.214/2544 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมจำนวน 7,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และชำระเงินตามสัญญาเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย กับค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 7,923.38 บาท และค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมจำนวน 59,720.38 บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแจ้งให้โจทก์จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 และได้รับชำระหนี้จากโจทก์แล้วจำนวน 4,838,567.40 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหรรมแห่งประเทศไทยในการใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ รวมทั้งมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที 1 ให้ชำระหนี้แก่โจทก์ด้วย โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้รวม 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ คิดถึงวันฟ้องจำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินจำนวน 5,236,760.42 บาท ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 3 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้จากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ดังนั้น คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดดังกล่าวจึงถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะอุทธรณ์ของให้ศาลฎีกามีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดอีกหาได้ไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งรับฟังยุติได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยโจทก์ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 2,619,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยถึงวันที่คดีถึงที่สุด ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 โดยโจทก์จะจ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฟ้องร้องจำเลยที่ 1 จนคดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตามสัญญากู้ยืมจำนวน 7,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามสัญญาเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 7,923.38 บาท และค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมจำนวน 59,720.38 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามคำฟ้องและคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 หลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแจ้งให้โจทก์จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 เป็นเงินต้นจำนวน 2,619,000 บาท กับดอกเบี้ยถึงวันที่คดีถึงที่สุดจำนวน 2,219,567.40 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,838,567.40 ตามเอกสารหมาย จ.12 ถึง จ.15 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติข้างต้น การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหรรมแห่งประเทศไทยนั้น เป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหนี้รายเดียวกัน แม้วงเงินค้ำประกันจะไม่เท่ากันโดยโจทก์ค้ำประกันในวงเงิน 2,619,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมซึ่งเท่ากับไม่จำกัดวงเงิน แต่ก็หาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เปลี่ยนแปลงไปไม่ โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วจำนวน 4,838,567.40 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามส่วนเท่าๆ กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์คนละ 1,612,855.80 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2546 อันเป็นวันที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ โจทก์มีนางสาวศุภลักษณ์ ชินกิจการ ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นประกอบเอกสารหมาย จ.17 ถึง จ.24 รับฟังได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับหนังสือทวงถามโดยชอบแล้วแต่ไม่ชำระหนี้พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินใด จึงไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฏหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควรนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง.

Share