แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง” ซึ่งกำหนดเวลาให้นำคดีขึ้นสู่ศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี มิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ เป็นการใช้สิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” ดังนั้น กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงสามารถย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องเพิ่งแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดีจึงไม่อาจดำเนินการฟ้องได้ทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฟ้องจาก 30 วัน ออกไปอีก 7 วัน ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำสั่งตามคำร้องของผู้ร้องว่า “กรณีตามคำร้องไม่มีกฎหมายให้กระทำได้ จึงไม่อาจอนุญาตให้ได้ ยกคำร้อง”
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติในเบื้องต้นว่า พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ผู้ร้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยให้แก่นางสาวทัศนีย์ กับพวกรวม 4 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องรวมเป็นเงิน 14,715 บาท ผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องประสงค์นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน แต่ฟ้องคดีไม่ทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนด จึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฟ้องออกไป 7 วัน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องขยายระยะเวลาฟ้องออกไปอีก 7 วัน นั้นชอบแล้วหรือไม่ โดยผู้ร้องอ้างในอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องเพิ่งแต่งตั้งทนายความจึงฟ้องคดีต่อศาลไม่ทันเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งศาลแรงงานกลางชอบที่จะขยายเวลาให้ผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง” ซึ่งกำหนดเวลาให้นำคดีขึ้นสู่ศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี มิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใดๆ เป็นการใช้สิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม” ดังนั้น กำหนดเวลาให้ฟ้องคดีดังกล่าวจึงสามารถย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องโดยอ้างว่ากรณีตามคำร้องไม่มีกฎหมายให้ทำได้ จึงไม่ชอบ คดีมีเหตุอันสมควรให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของผู้ร้องฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ว่ามีเหตุจำเป็นที่จะขยายระยะเวลาในการฟ้องคดีให้ผู้ร้องหรือไม่ แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีต่อไป อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีต่อไป.