คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3590/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/1 (4) ให้คำนิยามคำว่า ขาย ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ฉะนั้น แม้โจทก์จะโอนที่ดินให้แก่กรมทางหลวงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ก็ถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/1 (4)
แม้ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/2 ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) ฯ มาตรา 4 (5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่นิติบุคคลผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่เมื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ขาย โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นโรงงานผลิตสินค้าจำหน่าย ไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย และการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมี พ.ร.ฎ.ออกมากำหนดให้ที่ดินของโจทก์ในส่วนที่โอนอยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องถูกเวนคืนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ หากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน การที่โจทก์ยอมตกลงโอนทรัพย์ให้แก่กรมทางหลวงจึงเกิดจากสภาพบังคับไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ ดังนั้น จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากรฯ
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าในส่วนเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและเงินค่าทดแทนสำหรับต้นไม้นั้น เป็นเงินชดเชยความเสียหายและการขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ทรัพย์สินอีกต่อไป ไม่ใช่ค่าโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีจากรายรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวนี้เป็นการไม่ชอบ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่ชอบด้วย ส่วนจำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้วศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวด้วย การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้เป็นการประเมินที่ไม่ชอบ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้ก็ไม่ชอบ จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นที่กำหนดไว้ หาได้นอกฟ้องนอกประเด็นตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) เลขที่ 4190010/6/100092 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2542 เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สบ/0100/2544 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ที่วินิจฉัยให้โจทก์นำเงินภาษีธุรกิจเฉพาะเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นที่คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,396,930.46 บาท ไปชำระ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) เลขที่ 4190010/6/100092 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สบ/0100/2544 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2544 โดยให้นำเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1939 และ 1940 จำนวน 27,965,450 บาท เป็นรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/1 (4), 91/2 (6) ประกอบพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 (5) และคิดเงินเพิ่มและภาษีท้องถิ่นจากจำนวนรายรับที่นำมาคำนวณภาษีดังกล่าว นอกจากนั้นให้ยกเสีย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ในการดำเนินธุรกิจของโจทก์ โจทก์มีที่ดินใช้เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตสินค้าของโจทก์อยู่ที่จังหวัดสระบุรี ต่อมาเมื่อปี 2538 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 สายกรุงเทพฯ – เชียงราย ตอนเสี่ยงเมืองสระบุรีด้านตะวันออก พ.ศ. 2538 ที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงงานของโจทก์ส่วนหนึ่งอยู่ในแนวเขตที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีจำนวนเนื้อที่ 31 ไร่ 20 ตารางวา ต่อมาโจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมรับค่าทดแทนสำหรับที่ดิน ต้นไม้และสิ่งปลูกสร้างกับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 สายกรุงเทพฯ – เชียงราย ตอนเลี่ยงเมืองสระบุรีด้านตะวันออก พ.ศ.2534 โดยโจทก์ตกลงรับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินเป็นเงิน 27,965,450 บาท ค่าทดแทนสำหรับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อถอนเป็นเงิน 68,581,132 บาท และค่าทดแทนสำหรับต้นไม้ยืนต้นเป็นเงิน 355,485 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 96,902,067 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้วและได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทแบ่งขายเพื่อโอนที่ดินที่จะต้องเวนคืนให้ตกเป็นของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจในการเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) เลขที่ 4190010/6/100092 แจ้งให้โจทก์ไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเงินที่โจทก์ได้รับมาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เป็นเงินค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 2,907,062.01 บาท เบื้ยปรับ 5,814,124.02 บาท เงินเพิ่ม 218,029.65 บาท ภาษีส่วนท้องถิ่น 893,921.56 บาท รวมเงินค่าภาษีทั้งสิ้น 9,833,137 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การประเมินของจำเลยชอบแล้วแต่มีเหตุอันควรให้งดเบี้ยปรับ คงให้โจทก์ชำระภาษีรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,437,600 บาท มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่ประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่จะต้องเวนคืนจำนวน 27,965,450 บาท และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ในส่วนนี้ชอบหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ว่า โจทก์ขายที่ดินเนื่องจากถูกราชการเวนคืน มิได้สมัครใจขายจึงมิใช่เป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไร จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ได้ให้คำนิยามคำว่า ขาย ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ตามบทนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่าแม้โจทก์จะโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่กรมทางหลวงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ก็ถือว่าเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ปัญหาต่อไปมีว่า กรณีของโจทก์เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรหรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้… (6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาและพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 บัญญัติว่าให้การขายอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังต่อไปนี้ เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร… (5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคลตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม แต่เป็นที่เห็นได้ชัดว่าทรัพย์ดังกล่าวโจทก์จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นโรงงานผลิตสินค้าจำหน่าย ไม่ใช่มีไว้เพื่อขายประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาออกมากำหนดให้ที่ดินของโจทก์ในส่วนที่โอนนั้นอยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน ดังนั้น แม้โจทก์จะยอมตกลงโอนทรัพย์นั้นแก่กรมทางหลวงก็ตาม ก็เกิดจากสภาพบังคับดังกล่าว ไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์กรณีของโจทก์เช่นนี้จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและเงินค่าทดแทนสำหรับต้นไม้ไม่ใช่รายรับที่โจทก์ได้มาเนื่องจากการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามฟ้อง จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามประมวลรัษฎากรนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในส่วนเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและเงินค่าทดแทนสำหรับต้นไม้นั้น เป็นเงินชดเชยความเสียหายและการขาดประโยชน์จากการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ทรัพย์สินอีกต่อไป ไม่ใช่ค่าโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีจากรายรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวนี้ เป็นการไม่ชอบและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่ชอบด้วย ส่วนจำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวชอบแล้ว และศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงมีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ตามคำฟ้องและคำให้การดังกล่าวด้วย การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเงินค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้เป็นการประเมินที่ไม่ชอบและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้ก็ไม่ชอบ จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประเด็นที่กำหนดไว้ หาได้นอกฟ้องนอกประเด็นตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางในส่วนนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) เลขที่ 4190010/6/100092 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2542 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สบ/0100/2544 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2544 สำหรับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share