แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 215 ประกอบมาตรา 158 (7) การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้จะไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายอันศาลฎีกาจะพึงรับวินิจฉัยหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อผู้เรียงอุทธรณ์ คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 แต่การที่จะให้จำเลยที่ 2 แก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์หรือคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้ เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้เสร็จไปแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีนี้มาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 2
วันที่ 15 มีนาคม 2556 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ศาลชั้นต้นได้ออกใบสำคัญคดีถึงที่สุด ลงวันที่ 19 มีนาคม 2556 โดยมีสาระสำคัญว่า คดีนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว โดยศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 และไม่มีคู่ความฝ่ายใดยื่นฎีกาต่อศาล
วันที่ 26 มีนาคม 2556 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนใบสำคัญคดีถึงที่สุดฉบับเดิมและออกใบสำคัญคดีถึงที่สุดฉบับใหม่ โดยอ้างว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และยกฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้น มีผลให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ถูกยกเลิกเพิกถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เท่ากับว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยมีการยื่นอุทธรณ์มาก่อนเลย คดีจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ตั้งแต่ระยะเวลาที่จะอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลงคือในวันที่ 23 สิงหาคม 2545 การที่ศาลชั้นต้นได้ออกหนังสือสำคัญคดีถึงที่สุดในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 นั้น เป็นการพิจารณาสั่งที่คลาดเคลื่อนผิดหลงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้ศาลชั้นต้นออกใบสำคัญคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ฉบับใหม่ว่า คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545
ศาลชั้นต้นได้ออกใบสำคัญคดีถึงที่สุดใหม่ลงวันที่ 29 มีนาคม 2556 โดยใช้ข้อความว่า บัดนี้คดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า คดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดเมื่อใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ซึ่งนำมาใช้แก่คดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า ” คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ถ้าได้มีอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาหรือศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีเรื่องนั้นใหม่ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 132 คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ ” คดีนี้จำเลยที่ 2 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 2 ดังนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้จะไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายอันศาลฎีกาจะพึงรับวินิจฉัยหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน