แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าข้าวเปลือกที่จำเลยรับฝากจากโจทก์แล้วสูญหายไปไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา671ทั้งการฟ้องให้ชำระเงินค่าข้าวเปลือกที่จำเลยรบฝากจากโจทก์แล้วสูญหายไปไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้จึงมีอายุความ10ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิม(มาตรา193/30ที่แก้ไขใหม่) วันที่27กรกฎาคม2525โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบจำนวนน้ำหนักข้าวเปลือกแต่ละชนิดที่จำเลยรับฝากไว้ได้สูญหายไปจากการรับฝากของจำเลยและให้จำเลยชดใช้ราคาแทนนั้นถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แล้วอายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่31พฤษภาคม2533ยังไม่เกิน10ปีจึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าฉางจากจำเลยเพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาข้าวเปลือกที่รับซื้อไว้มีกำหนด12 เดือน นับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2522 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์2523 อัตราค่าเช่าเกวียนละ 110 บาท ต่อปี และจำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาฝากทรัพย์ในฐานผู้รับฝาก โดยเมื่อจำเลยรับมอบข้าวเปลือกที่รับมอบไว้เป็นหลักฐานหากโจทก์ประสงค์จะนำข้าวเปลือกออกจากฉางดังกล่าว จำเลยจะต้องส่งมอบข้าวเปลือกให้ทันที ห้ามไม่ให้จำเลยนำออกมาจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่บุคคลอื่นเป็นอันขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากโจทก์เท่านั้น โจทก์ได้ฝากข้าวเปลือกเจ้าชนิด 10 ถึง15 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 475,953 กิโลกรัมข้าวเปลือกเจ้าชนิด25 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 19,251 กิโลกรัม และข้าวเปลือกเหนียวชนิดละจำนวน 44,114 กิโลกรัม ให้จำเลยเก็บรักษาไว้ในฉางที่เช่าจากจำเลย แต่จำเลยส่งมอบข้าวเปลือกแก่โจทก์ไม่ครบถ้วนน้ำหนักขาดหายไปบางส่วน คิดเป็นเงินค่าข้าวเปลือกที่หายไปจำนวน142,133.03 บาท โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2525แจ้งยอดน้ำหนักข้าวเปลือกสูญหายให้จำเลยทราบเพื่อมาทำการตรวจสอบแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงดำเนินการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าฉางงวดที่สองจำนวน 30,250 บาท และค่ากรรมกรจำนวน 7,120.83 บาท นำมาหักกับจำนวนเงินที่จำเลยต้องชดใช้ให้โจทก์จำนวน 142,133.03 บาท คงเหลือยอดหนี้ทีจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 104,762.20 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 165,655.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 104,762.20 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาให้โจทก์เช่าฉางตามฟ้องจริงและเมื่อเดือนตุลาคม 2522 จำเลยส่งมอบข้าวตามใบสั่งจ่ายข้าวเปลือกของโจทก์ให้แก่โรงสี อ. และ พ. ครบถ้วนตามหลักฐานใบสั่งจ่ายข้าวเปลือกจำเลยไม่เคยทำสัญญาฝากทรัพย์กับโจทก์ ไม่เคยได้รับหนังสือจากโจทก์ฉบับลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2525 และฉบับลงวันที่ 17 มกราคม2526 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด จำเลยส่งมอบข้าวเปลือกให้โรงสีทั้งสองเมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2522 สัญญาเช่าฉางระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่ส่งมอบข้าวเปลือกให้แก่โรงสีทั้งสองแต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนภายใน 6 เดือน นับแต่วันสิ้นสัญญาดังกล่าว และไม่ได้ฟ้องขอให้ชดใช้ราคาทรัพย์ที่ฝากเกิน 10 ปี นับแต่เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2522 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 165,655.22 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 104,762.20บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายเป็นใจความว่ากรณีตามฟ้องโจทก์ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 แต่เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์ที่ฝากคืนจากจำเลยผู้รับฝาก หรือให้จำเลยชดใช้ราคาทรัพย์จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่)โจทก์ได้แจ้งยอดข้าวเปลือกขาดน้ำหนักกับจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2525 และโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 31 พฤษภาคม 2533 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความนั้นในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย เช่นนี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าฉางของจำเลยไว้เก็บข้าวเปลือกมีกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์2522 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 ตามสัญญาเช่าฉางเอกชนเอกสารหมายจ.2 แต่วินิจฉัยว่า สัญญาเช่าฉางเอกชนระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวเป็นสัญญาฝากทรัพย์มิใช่สัญญาเช่าทรัพย์ และฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่าโจทก์ได้ฝากข้าวเปลือกไว้แก่จำเลยเป็นข้าวเปลือกเจ้าชนิด 10 ถึง 15เปอร์เซ็นต์ จำนวน 475,953 กิโลกรัม ชนิด 25 เปอร์เซ็นต์ จำนวน19,251 กิโลกรัม และข้าวเปลือกเหนียวชนิดละ 44,114 กิโลกรัมต่อมาจำเลยได้จ่ายข้าวเปลือกเจ้าชนิด 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์จำนวน 421,529 กิโลกรัม แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพะเยามุ่ยฮวดเส็งและจ่ายข้าวเปลือกเหนียวชนิดคละจำนวน 42,875 กิโลกรัม แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงสีเอกชัย ตามคำสั่งของโจทก์แล้วปรากฎว่าต่อมาข้าวเปลือกทั้งสามชนิดที่ยังเหลืออยู่ที่ฉางจำเลยได้หายไปหมดเมื่อคิดหักข้าวเปลือกยุบตัวให้ตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ข้าวเปลือกเจ้าชนิด 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ สูญหายไปจำนวน 43,816.46 กิโลกรัมชนิด 25 เปอร์เซ็นต์ สูญหายไป 18,480.96 กิโลกรัม และข้าวเปลือกเหนียวชนิดคละสูญหายไป 331.94 กิโลกรัม คิดเป็นเงินค่าข้าวเปลือกที่สูญหายไปทั้งสิ้น 142,133.03 บาท โจทก์เป็นหนี้จำเลยค่าเช่าฉางและค่าจ้างกรรมกรเป็นเงินจำนวน 37,370.83 บาท เมื่อหักกันแล้วจำเลยจึงเป็นหนี้ค่าข้าวเปลือกที่รับฝากไว้แล้วสูญหายไป จำนวนเงิน104,762.20 บาท มีปัญหาว่า อายุความฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าข้าวเปลือกที่จำเลยได้รับฝากแล้วสูญหายไปมีกำหนด 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 หรือมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าข้าวเปลือกที่จำเลยรับฝากจากโจทก์แล้วสูญหายไปไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยใช่ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 671 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั้งการฟ้องให้ชำระเงินค่าข้าวเปลือกที่จำเลยรับฝากจากโจทก์แล้วสูญหายไป ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30ที่แก้ไขใหม่) ปัญหาต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2525 โจทก์ได้มีหนังสือหมาย จ.10 แจ้งให้จำเลยทราบจำนวนน้ำหนักข้าวเปลือกแต่ละชนิดที่จำเลยรับฝากไว้ได้สูญหายไปจากการรับฝากของจำเลยและให้จำเลยชดใช้ราคาแทนนั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แล้ว อายุความ 10 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่ดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 31 พฤษภาคม 2533 ยังไม่เกินกำหนด 10 ปีจึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษากลับ ให้ บังคับ คดีไป ตาม คำพิพากษา ศาลชั้นต้น