แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฎีกาจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่ไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเพิ่มและให้คู่ความสืบพยานในประเด็นที่กำหนดใหม่จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535มาตรา 11 และมาตรา 13 นั้น ให้ถือว่ามูลนิธิที่ได้จดทะเบียนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับนั้นยังคงใช้ตราสารก่อตั้งมูลนิธิเป็นข้อบังคับต่อไป เว้นแต่มูลนิธินั้นถูกคำสั่งศาลให้ยกเลิกตามบทบัญญัติในมาตรา 13 ดังกล่าวเมื่อตามตราสารจัดตั้งมูลนิธิโจทก์กำหนดให้ผู้จัดการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนและเหรัญญิกร่วมกันลงลายมือชื่อกระทำการแทนมูลนิธิได้ การมอบอำนาจให้ ส.หรือว.ฟ้องจำเลย มีผู้จัดการมูลนิธิและเหรัญญิกลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตรามูลนิธิโจทก์ การมอบอำนาจดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้โจทก์เป็นมูลนิธิซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการกุศลในทางพุทธศาสนา แต่เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวกับโจทก์เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่คืนแถวให้โจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องรับขับไล่จำเลยอันเป็นสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมายได้ กรณีไม่ถือว่าขัดต่อวัตถุประสงค์มูลนิธิโจทก์แต่อย่างใด คำให้การจำเลยเรื่องจำเลยออกเงินช่วยค่าก่อสร้างแก่ ส. และ ม. นั้น แม้หากจะมีข้อตกลงอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ระหว่างจำเลยกับ ส. และ ม. จริงก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิไม่เกี่ยวกับโจทก์ จะนำมาบังคับเอากับโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ ตึกแถวพิพาทไม่ได้ ศาลชั้นต้นไม่กำหนดข้อต่อสู้จำเลยข้อนี้เป็นประเด็นจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล โดยจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิตามกฎหมาย มีพระอุดรคณาภิรักษ์หรือพระเทพกิตติปัญญาคุณเป็นผู้จัดการ และท่านผู้หญิงเชิญ พิศลยยบุตร เป็นเหรัญญิกร่วมกันลงลายมือชื่อประทับตราสำคัญของมูลนิธิกระทำการแทนโจทก์ได้โจทก์มอบอำนาจให้นายสาธิต รอดช้าง หรือนายวรวุฒิ จักรแก้วคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีแทน โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวเลขที่ 626/94 (37) จำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวเลขที่ดังกล่าวจากโจทก์มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2536 ค่าเช่าเดือนละ 300 บาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่า โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากห้องเช่า จำเลยเพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวเลขที่ 626/94 (37)
จำเลยให้การว่า พระเทพกิตติปัญญาคุณ และท่านผู้หญิงเชิญพิศลยบุตร ไม่ใช่ผู้จัดการและเหรัญญิกของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 123 ประกอบกับตราสารจัดตั้งมูลนิธิเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 กำหนดว่าทรัพย์สินและกิจการต่าง ๆ อยู่ในบังคับบัญชาของคณะกรรมการ แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้จัดการและเหรัญญิกมอบอำนาจให้นายสาธิต รอดช้าง และนายวรวุฒิ จักรแก้วเป็นผู้ดำเนินการแทนไม่ได้บรรยายว่าคณะกรรมการของมูลนิธิมอบอำนาจให้หนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 จึงไม่สมบูรณ์ นายสาธิตรอดช้าง หรือนายวรวุฒิ จักรแก้ว ไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ และหนังสือมอบอำนาจไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้ระบุว่าให้ฟ้องจำเลย และท่านผู้หญิงเชิญมีอายุมากแล้วไม่มีนายแพทย์รับรองว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ลายมือชื่อท่านผู้หญิงเชิญเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่บรรยายว่า โจทก์จะจัดการทรัพย์สินในคดีให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิอย่างไร จำเลยเช่าตึกแถวจากนายสวัสดิ์และนางสมร หนูครองสิน เจ้าของเดิมโดยได้ช่วยค่าก่อสร้างตกพิพาทเมื่อปี 2514 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดามีกำหนดเวลาเช่า 20 ปี และมีข้อตกลงต่างหากจากสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ว่า เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วจะให้จำเลยเช่าอีก 10 ปี ต่อมาเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่า20 ปีแล้ว นายสวัสดิ์และนางสมรยกตึกแถวพร้อมที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยไปติดต่อกับโจทก์ โจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าตึกพิพาทอีก 10 ปี แต่ขอทำสัญญาปีต่อปีอ้างว่าเพื่อที่โจทก์จำเลยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนและเพื่อโจทก์จะได้ปรับปรุงค่าเช่าเพิ่มได้ทุกปี จำเลยหลงเชื่อจึงเช่าตึกแถวพร้อมที่ดินดังกล่าวกับโจทก์อีก 1 ปี แต่โจทก์ไม่ยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลยอีก โจทก์รับโอนตึกพิพาทมาจากนายสวัสดิ์และนางสมรย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้ ต้องให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก 9 ปีตามข้อตกลงสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ลายมือชื่อของท่านผู้หญิงเชิญ พิศลบุตร ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าลายมือชื่อของท่านผู้หญิงเชิญ พิศลยบุตรในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ไม่ใช่ลายมือปลอม พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ 626/94 (37) ส่งมอบตึกแถวดังกล่าวแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับจำเลยว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อต่อสู้ตามคำให้การจำเลยไม่ครบถ้วน ศาลอุทธรณ์ควรย้อนสำนวนไปให้คู่ความได้สืบพยานในประเด็นที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นไว้ต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่ ขณะยื่นคำฟ้องมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ฎีกาจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่ไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเพิ่มและให้คู่ความสืบพยานในประเด็นที่กำหนดใหม่ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสาธิต รอดช้าง หรือนายวรวุฒิ จักรแก้วเป็นผู้ดำเนินคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยวินิจฉัยตำหนิอุทธรณ์จำเลยว่า จำเลยไม่ได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และขัดต่อวัตถุประสงค์มูลนิธิตามตราสารจัดตั้งมูลนิธิอย่างไร เป็นอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลย ปัญหานี้จำเลยไม่เห็นด้วย เพราะจำเลยกล่าวในคำให้การไว้โดยชัดแจ้งว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ชอบ ขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 123 ประกอบกับตราสารจัดตั้งมูลนิธิเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ข้อ 5 ซึ่งกำหนดว่าทรัพย์สินและกิจการต่าง ๆของมูลนิธิอยู่ในบังคับบัญชาของคณะกรรมการมูลนิธิ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 111 ซึ่งกำหนดว่าคณะกรรมการมูลนิธิเป็นผู้แทนมูลนิธิในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ฟ้องโจทก์ไม่ระบุว่าคณะกรรมการมูลนิธิมีมติมอบอำนาจให้นายสาธิต รอดช้างหรือนายวรวุฒิ จักรแก้ว เป็นผู้ฟ้องคดีในนามมูลนิธิ หนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ไม่สมบูรณ์ การมอบอำนาจฟ้องคดีของโจทก์ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 111 และ 123และวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ตราสารจัดตั้งมูลนิธิข้อ 5 อุทธรณ์ของจำเลยชัดแจ้งแล้วนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2535 มาตรา 11 และมาตรา 13 นั้น ให้ถือว่ามูลนิธิที่ได้จดทะเบียนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับนั้นยังคงใช้ตราสารก่อตั้งมูลนิธิเป็นข้อบังคับต่อไป เว้นแต่มูลนิธินั้นถูกคำสั่งศาลให้ยกเลิกตามบทบัญญัติในมาตรา 13 ดังกล่าว ตามตราสารจัดตั้งมูลนิธิเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้ผู้จัดการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนและเหรัญญิกร่วมกับลงลายมือชื่อกระทำการแทนมูลนิธิได้ การมอบอำนาจให้นายสาธิตรอดช้าง หรือนายวรวุฒิ จักรแก้ว ฟ้องจำเลยมีผู้จัดการมูลนิธิและเหรัญญิกลงลายมือชื่อร่วมกัน ประทับตรามูลนิธิโจทก์ การมอบอำนาจดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขัดต่อวัตถุประสงค์ของมูลนิธิซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการกุศลในทางพุทธศาสนา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่าจำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวกับโจทก์ เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่คืนตึกแถวให้โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องขับไล่จำเลยอันเป็นสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมายได้ กรณีไม่ถือว่าขัดต่อวัตถุประสงค์มูลนิธิโจทก์แต่อย่างใด ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทมีข้อตกลงอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา เพราะจำเลยได้ช่วยเหลือออกค่าก่อสร้างตึกแถวให้นายสวัสดิ์และนางสมรหนูครองสิน การที่ศาลไม่กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ เป็นการตัดสิทธิจำเลยในการต่อสู้คดี การกำหนดประเด็นของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำให้การจำเลยเรื่องจำเลยออกเงินช่วยค่าก่อสร้างแก่นายสวัสดิ์และนางสมรนั้น แม้หากจะมีข้อตกลงอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาระหว่างจำเลยกับนายสวัสดิ์ และนางสมรก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิ ไม่เกี่ยวกับโจทก์ จะนำมาบังคับเอากับโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทไม่ได้ ศาลชั้นต้นไม่กำหนดข้อต่อสู้จำเลยข้อนี้เป็นประเด็นจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน