คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 369/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ไม่มีบทบัญญัติกำหนดโทษผู้กระทำผิดไว้ พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 7 วรรคสุดท้ายมีเจตนารมณ์เพียงว่าในการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามมาตรา7(4) นั้น ให้นำแต่เฉพาะวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น มิได้ให้นำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับทั้งหมด จึงจะนำเอาบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 72 ซึ่งอยู่ในหมวด 9 อันเป็นเรื่องบทกำหนดโทษมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วยหาได้ไม่ เมื่อมีผู้กระทำผิดการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาล จึงขอให้ลงโทษผู้กระทำผิดนั้นไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 72 พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 มาตรา7 พระราชบัญญัติสุขาภิบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 3 และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนด 4 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามคำฟ้อง ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำฟ้องของโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลยว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้พยายามลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลนาแก โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลนาแก มีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก บัญญัติว่า ‘บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย’ แต่ปรากฏว่าตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้นั้น ไม่มีมาตราใดบัญญัติกำหนดโทษผู้กระทำผิดไว้ และตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 3 ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ได้บัญญัติไว้ในวรรคสุดท้ายของมาตรา 7 ว่า ‘การเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามความใน (4) ให้ใช้วิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลโดยอนุโลม’ ซึ่งก็มีเจตนารมณ์เพียงว่า ในการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลตามมาตรา7(4) นั้นให้นำแต่เฉพาะวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาลไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลไว้ มิได้หมายความว่าให้นำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลมาใช้บังคับทั้งหมด ดังนั้นจะนำเอาบทกำหนดโทษผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482มาตรา 72 ซึ่งอยู่ในหมวด 9 อันเป็นเรื่องบทกำหนดโทษ มาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วยดังที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่ ฉะนั้น เมื่อมีผู้กระทำผิดการเลือกตั้งกรรมการสุขาภิบาลเกิดขึ้น จึงขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ กรณีเช่นนี้ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 ดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน.

Share