คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2193/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า หนี้ของจำเลยที่ 2 ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน พิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงยุติตามคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางแล้ว ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงอุทธรณ์ในปัญหาว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่บรรยายฟ้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 10 (2) ด้วยมิได้ เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับความเสียหายในปัญหานี้ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 10 (2) บังคับว่า กรณีที่เจ้าหนี้มีประกันฟ้องคดีล้มละลายจะต้องกล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท คดีนี้ได้ความตามฟ้องว่าโจทก์มีทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นประกัน โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 6 ฉะนั้น การที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ล้มละลาย โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 (2) โดยกล่าวมาในฟ้องว่าถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ล้มละลาย จะสละที่ดินหลักประกันของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาที่ดินดังกล่าวมาในฟ้องซึ่งหักกับจำนวนหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังคงเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อนำราคาประเมินของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดรวมเข้าด้วยกันแล้วนำมาหักทอนกับจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสามยังค้างชำระหลังหักราคาหลักประกันออกแล้วเป็นหนี้ซึ่งสามารถกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา ที่ศาลล้มละลายกลางรับฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ไว้พิจารณาและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เด็ดขาด เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยทั้งสาม นายสุพจน์ พจนสุวรรณกุล และนางรัตนา พจนสุวรรณกุล เป็นลูกหนี้ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง โดยจำเลยที่ 1 นายสุพจน์และนางรัตนาทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง ฉบับแรกลงวันที่ 6 กันยายน 2534 จำนวนเงิน 600,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 จำนวนเงิน 400,000 บาท ฉบับที่สามลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 จำนวนเงิน 400,000 บาท ฉบับที่สี่ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2538 จำนวนเงิน 3,100,000 บาท และฉบับที่ห้าลงวันที่ 24 สิงหาคม 2538 จำนวนเงิน 4,500,000 บาท กับเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 2 นายสุพจน์และนางรัตนาได้ร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง จำนวน 400,000 บาท และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2539 จำเลยที่ 1 นายสุพจน์และนางรัตนาได้ร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง จำนวน 2,000,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 นายสุพจน์และนางรัตนาและเพื่อเป็นประกันหนี้ที่มีต่อธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง ทุกประเภท นางรัตนาได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 7763, 7774, 7942, 9653 และ 4214 ตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10903, 11088 และ 12592 ตำบลชะมาย อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 2964 ตำบลหนองหงส์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ที่มีต่อธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง โดยสัญญาว่า หากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ยังค้างชำระยินยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจนครบ ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2541 นางรัตนาถึงแก่ความตาย และวันที่ 1 มีนาคม 2543 นายสุพจน์ถึงแก่ความตาย และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2543 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้โอนขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้แก่โจทก์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องรายนี้คิดถึงวันฟ้อง จำเลยที่ 1 นายสุพจน์และนางรัตนาเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2541 จำนวน 10,486,915.40 บาท กับดอกเบี้ยไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2541 ถึงวันฟ้องจำนวน 7,768,999.90 บาท รวมเป็นเงิน 18,255,915.30 บาทกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 นายสุพจน์และนางรัตนาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 3,905,757.08 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22,161,672.38 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนี้ในคดีทั้งหมดเป็นหนี้มีหลักประกัน เมื่อนำราคาประเมินของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นหลักประกันทั้งหมดรวมเข้าด้วยกันแล้วนำมาหักทอนกับจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสามยังค้างชำระ หลังหักราคาหลักประกันออกแล้วเป็นหนี้ซึ่งสามารถกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนและมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ภายหลังโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมา โจทก์ได้มีหนังสือเชิญจำเลยทั้งสามมาพบเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินรวม 3 ครั้ง จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือแล้วไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ พฤติกรรมของจำเลยทั้งสามที่ไม่ใส่ใจที่จะชำระหนี้แก่โจทก์แสดงว่าจำเลยทั้งสามไม่มีความสามารถชำระหนี้แก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต โดยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2540 จำเลยทั้งสามโดยจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 จำนวน 400,000 บาท และหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 18 มิถุนายน 2539 จำนวน 100,000 บาท โดยธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปลดจำนองให้จำเลยที่ 2 แล้ว กับเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2537 จำเลยทั้งสามได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินลงวันที่ 26 มีนาคม 2535 จำนวน 400,000 บาท แต่ตามฟ้องโจทก์ไม่นำต้นเงินดังกล่าวมาหักออกจากยอดหนี้ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันในวงเงิน 500,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้แล้วจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามต้องรับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกของนายสุพจน์และนางรัตนา จำเลยทั้งสามยังไม่ได้รับมรดก และกองมรดกของนางรัตนามีผู้จัดการมรดก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม หนี้ตามฟ้องยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน เนื่องจากคดีที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องจำเลยทั้งสามยังไม่ถึงที่สุดและยังไม่มีการนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากขายทอดตลาดอย่างถูกต้องตามราคาท้องตลาดจะได้ราคามากกว่าจำนวนหนี้ และสามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยที่ 3 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่เกิน 4,500,000 บาท แต่ทรัพย์จำนองมีราคามากกว่าที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ควรล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า หนี้ของจำเลยที่ 2 ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน พิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงยุติตามคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางแล้ว ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงอุทธรณ์ในปัญหาว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่บรรยายฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) ด้วยมิได้ เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับความเสียหายในปัญหานี้ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่คำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ว่า เมื่อนำราคาประเมินของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นหลักประกันทั้งหมดรวมเข้าด้วยกันแล้วนำมาหักทอนกับจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสามยังค้างชำระ หลังหักราคาหลักประกันออกแล้วเป็นหนี้ซึ่งสามารถกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) นั้น แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาในศาลล้มละลายกลางแต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านี้ได้ในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) บังคับว่า กรณีที่เจ้าหนี้มีประกันฟ้องคดีล้มละลายจะต้องกล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท คดีนี้ได้ความตามฟ้องว่าโจทก์มีทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นประกัน โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 6 ฉะนั้น การที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ล้มละลาย โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 (2) โดยกล่าวมาในฟ้องว่าถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ล้มละลายจะสละที่ดินหลักประกันของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาที่ดินดังกล่าวมาในฟ้องซึ่งหักกับจำนวนหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังคงเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อนำราคาประเมินของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นหลักประกันทั้งหมดรวมเข้าด้วยกันแล้วนำมาหักทอนกับจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสามยังค้างชำระ หลังหักราคาหลักประกันออกแล้วเป็นหนี้ซึ่งสามารถกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามราคาประเมินและรายการคำนวณภาระหนี้ซึ่งจะนำเสนอศาลในชั้นพิจารณา ตามฟ้องโจทก์จึงไม่ปรากฏราคาทรัพย์จำนองที่โจทก์ได้ตีราคาไว้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา ที่ศาลล้มละลายกลางรับฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ไว้พิจารณาและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เด็ดขาดเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลล้มละลายกลาง

Share