คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2064/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากการส่งและแจ้งคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 47 ทวิ บังคับให้ต้องทำทั้ง 2 วิธีพร้อมกันคือให้ทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้รับซึ่งจะต้องรับคำสั่งดังกล่าว ณ ภูมิลำเนาของผู้ร้องนั้น และปิดประกาศคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่ายเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แต่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 49, 73 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 39 ทวิ, 42, 65, 66 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยในกรณีที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามฟ้อง และปรับจำเลยรายวันนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จตามคำสั่งเจ้าพนักงาน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 39 ทวิ, 42, 65 (ที่ถูกมาตรา 65 วรรคหนึ่ง), 66 ทวิ (ที่ถูกมาตรา 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง) พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 49 (ที่ถูกมาตรา 49 วรรคหนึ่ง (1)), 73 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 10,000 บาท ฐานดัดแปลงต่อเติมอาคารปิดทางเข้าออกทางหลวงอันเป็นพื้นที่ต้องห้าม ปรับ 3,000 บาท ฐานมิได้รื้อถอนอาคารตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ปรับ 5,000 บาท และปรับอีกวันละ 300 บาท รวมระยะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่ง 812 วัน เป็นปรับ 243,600 บาท รวมปรับ 261,600 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 130,800 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมิได้รื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เพราะขาดองค์ประกอบความผิดในการแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2544 เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ตรวจพบการกระทำความผิดดังกล่าว จึงได้มีคำสั่งเลขที่ 187/2544 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ให้จำเลยรื้อถอนอาคารหลังคาโครงเหล็กในส่วนที่ดำเนินการก่อสร้างดัดแปลงเพิ่มเติมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายภายใน 30 วัน นับแต่จำเลยทราบคำสั่ง จำเลยได้ทราบคำสั่งนี้โดยการปิดคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารทั้งสามห้องของจำเลยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2544 โดยชอบแล้ว ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 ประกอบมาตรา 66 ทวิ แล้ว ส่วนเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยวิธีใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมายประการต่อไปว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารหลังคาโครงเหล็กโดยปิดคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผย ถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมิได้รื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากการส่งและแจ้งคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ บังคับให้ต้องทำทั้ง 2 วิธีพร้อมกันคือให้ทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้รับซึ่งจะต้องรับคำสั่งดังกล่าว ณ ภูมิลำเนาของผู้ร้องนั้น และปิดประกาศคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย เป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แต่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง การที่จำเลยก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมหลังคาโครงเหล็กโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและก่อสร้างต่อเติมด้านหน้าของอาคารคร่อมทับถนนสาธารณะในหมู่บ้านปิดทางเข้าออกทางหลวงกีดขวางการจราจรบนทางหลวงนั้น การกระทำของจำเลยที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมหลังคาโครงเหล็กเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำต่อเติมอาคารคร่อมทับถนนสาธารณะในหมู่บ้านปิดทางเข้าออกทางหลวงกีดขวางการจราจรบนทางหลวง จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยเป็นสองกรรม จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษปรับจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นวันละ 300 บาท นั้น หนักเกินไป แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยให้เหมาะสมกับความผิดได้ และเห็นสมควรกำหนดโทษปรับรายวันจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานดัดแปลงต่อเติมอาคารปิดทางเข้าออกทางหลวงอันเป็นพื้นที่ต้องห้าม เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 10,000 บาท ฐานมิได้รื้อถอนอาคารตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ปรับ 5,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท รวมระยะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่ง 812 วัน เป็นเงิน 81,200 บาท รวมปรับ 96,200 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 48,100 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share