คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2194/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 7 ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 (จำเลยที่ 1) ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 96 (3) และเจ้าหนี้รายที่ 7 ได้จัดการให้ผู้คัดค้านดำเนินการยึดหลักประกันของลูกหนี้ที่ 1 แล้ว ต่อมาระหว่างประกาศขายทอดตลาด ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องลูกหนี้ที่ 1 ทำให้ผู้คัดค้านหมดอำนาจที่จะจัดการขายทอดตลาดหลักประกันดังกล่าวและมิใช่เป็นความผิดของเจ้าหนี้รายที่ 7 แต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าหนี้รายที่ 7 นำค่าธรรมเนียมรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามมาตรา 179 (3) (เดิม) ไปชำระต่อผู้คัดค้าน
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้รายที่ 7 ที่ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านงดเว้นเรียกเก็บค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายจากเจ้าหนี้รายที่ 7 มิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แต่อย่างไรก็ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวตามมาตรา 26 วรรคสี่ จึงรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 7 ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 โดยเจ้าหนี้รายที่ 7 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 7 ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอ ส่วนที่ขอเกินวงเงินและหรือยังขาดอยู่เท่าใดก็ให้เจ้าหนี้รายที่ 7 ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 โดยส่วนเฉลี่ยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (8) ต่อมาผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าหนี้รายที่ 7 ไปดำเนินการยึดหลักประกันดังกล่าวและเจ้าหนี้รายที่ 7 ได้จัดการยึดหลักประกัน ณ ที่ทำการของผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2545 และอยู่ระหว่างผู้คัดค้านประกาศขายทอดตลาด เมื่อศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 มีผลทำให้ลูกหนี้ที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้คัดค้านจึงมีหนังสือลงวันที่ 17 สิงหาคม 2548 ให้เจ้าหนี้รายที่ 7 ไปชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหลักประกันดังกล่าวและค่าใช้จ่ายจำนวน 13,292.68 บาท ผู้ร้องเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านงดเว้นเรียกค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายโดยให้ถือเป็นอันพับแก่เจ้าหนี้รายที่ 7
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “สำหรับอุทธรณ์ของผู้ร้องปัญหาที่ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ผู้คัดค้านงดเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายจากเจ้าหนี้รายที่ 7 โดยให้ตกเป็นพับไปชอบหรือไม่นั้น แม้มิใช่เป็นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นที่ให้อุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ชอบที่ศาลฎีกาจะยกอุทธรณ์ได้ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ร้องนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ รวมทั้งเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (1) (2) เมื่อหลักประกันของเจ้าหนี้รายที่ 7 ที่ขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 7 ได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวแล้วเป็นหลักประกันของลูกหนี้ที่ 1 ที่ได้จำนองไว้แก่เจ้าหนี้รายที่ 7 ย่อมอยู่ในอำนาจของผู้คัดค้านที่จะจัดการและจำหน่ายภายหลังเมื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลายแล้วได้ ทั้งผู้คัดค้านก็ยังมีหน้าที่ตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 7 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันโดยให้ขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 7 ก่อน หากยังมีหนี้ขาดอยู่เท่าใด ให้เจ้าหนี้รายที่ 7 ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 โดยส่วนเฉลี่ยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (8) ต่อไป แม้เจ้าหนี้รายที่ 7 จะเป็นผู้จัดการให้ผู้คัดค้านดำเนินการยึดและขายทอดตลาดหลักประกันดังกล่าวก็เป็นการกระทำไปตามคำสั่งของผู้คัดค้านที่แจ้งให้เจ้าหนี้รายที่ 7 มาดำเนินการยึดและขายทอดตลาด ประกอบกับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดและคำพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลายที่สิ้นสุดลงไปนั้นก็เนื่องจากศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องลูกหนี้ลูกหนี้ที่ 1 มิได้เกี่ยวกับเจ้าหนี้รายที่ 7 ซึ่งเป็นเพียงเจ้าหนี้ผู้ยื่นขอรับชำระหนี้เท่านั้น การที่ผู้คัดค้านหมดอำนาจที่จะจัดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นหลักประกันของเจ้าหนี้รายที่ 7 จึงมิใช่เป็นความผิดของเจ้าหนี้รายที่ 7 แต่อย่างใดด้วย หากแต่เป็นไปโดยผลของกฎหมายล้มละลาย การยึดและขายทอดตลาดหลักประกันดังกล่าวถือได้ว่าผู้คัดค้านดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและคำสั่งศาล ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าหนี้รายที่ 7 นำค่าธรรมเนียมรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (3) (เดิม) ไปชำระต่อผู้คัดค้าน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเป็นการไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคสี่”
พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งเจ้าหนี้รายที่ 7 ให้นำค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายห้องชุดเลขที่ 50/91 ชั้นที่ 6 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดพร้อมคอนโดมิเนียม ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 30/2534 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 74569, 74570 และ 74571 ตำบลหัวหมากใต้ อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ของลูกหนี้ที่ 1 ไปชำระต่อผู้คัดค้าน

Share