คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5006/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในพินัยกรรมข้อ1ระบุว่าแม้พ.และล. จะได้แสดงเจตนายกทรัพย์สินของตนที่มีอยู่ขณะทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหมดแต่ผู้เดียวแต่พินัยกรรมข้อ2ระบุว่า”แต่พินัยกรรมนี้ให้เงื่อนไขดังนี้”การยกทรัพย์สินให้โจทก์ตามพินัยกรรมข้อ1จึงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมข้อ2ด้วยทั้งพินัยกรรมข้อ2ข.ระบุว่าหากพ.ตายก่อนล. ให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนี้ทั้งหมดแสดงให้เห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมที่ประสงค์ให้พินัยกรรมข้อ2เป็นเนื้อหาของพินัยกรรมด้วยมิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องระบุอีกเพราะมีข้อกำหนดให้ทรัพย์มรดกตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรมข้อ1อยู่แล้วและพินัยกรรมข้อ2ข. ระบุให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งหมดจึงไม่มีทรัพย์ตามพินัยกรรมที่จะตกทอดแก่โจทก์ในกรณีที่ล. ถึงแก่ความตายภายหลังอีกพินัยกรรมดังกล่าวจึงมีเนื้อหาและผลบังคับตามข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ2เท่านั้นหาใช่ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ1มีผลบังคับเป็นหลักไม่ เมื่อบุตรของโจทก์อุ้มท้องอยู่ในขณะที่มีการทำพินัยกรรมได้แท้งก่อนที่จะคลอดออกมาและล.ผู้ทำพินัยกรรมร่วมกับพ. ได้ถึงแก่ความตายก่อนพ. ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ2ค.ที่ระบุให้ล. ยกทรัพย์ให้บุตรโจทก์ที่โจทก์อุ้มท้องอยู่ถ้าได้คลอดออกมามีชีวิตอยู่จึงเป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1698(2)เพราะเงื่อนไขนั้นไม่อาจสำเร็จได้เมื่อล. ตามก่อนพ.พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามข้อ2ก.ที่ระบุให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งแบ่งให้พ. ข้อกำหนดพินัยกรรมที่เหลือในข้อ2ข. ที่พ.แสดงเจตนาไว้ว่าถ้าพ.ตายก่อนล.ให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งหมดจึงตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1698(2)โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิในฐานะผู้รับทรัพย์มรดกของพ. ตามพินัยกรรมมาฟ้องจำเลยมิให้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของพ. ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายพันธ์ กับนางลอยต่างทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินที่ตนมีอยู่ในเวลานั้นและที่จะมีต่อไปข้างหน้าให้แก่โจทก์แต่ผู้เดียว โดยมีข้อกำหนดเงื่อนไขเพียงว่ากรณีใครตายก่อนตายหลังว่า (1) ถ้านางลอยตายก่อนนายพันธ์ ให้โจทก์ได้ทรัพย์ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งได้แก่นายพันธ์ (2) ถ้านายพันธ์ ตายก่อนนางลอย ให้โจทก์ได้รับทรัพย์สินทั้งหมดและให้โจทก์อยู่กับนางลอย (3) ถ้าบุตรที่โจทก์อุ้มท้องอยู่ในขณะทำพินัยกรรมเกิดมามีชีวิตอยู่ต่อไปแม้นางลอย ตายก่อนก็ให้ทรัพย์สินทั้งหมดได้แก่โจทก์และบุตรนั้นทั้งสิ้น ต่อมาบุตรซึ่งโจทก์อุ้มท้องอยู่ไม่มีชีวิตและนางลอย ตายก่อนนายพันธ์ โจทก์จึงเข้ารับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจำนวนครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งเป็นของนายพันธ์ต่อมานายพันธ์ตายทรัพย์มรดกของนายพันธ์ จึงตกได้แก่โจทก์จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายพันธ์ร่วมกันขัดขวางโจทก์รับทรัพย์มรดกของให้พิพากษาว่า จำเลยถูกตัดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดก ให้จำเลยยกเลิกเพิกถอนคำร้องขอรับมรดก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมของนายพันธ์ เจ้ามรดกโดยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พินัยกรรมที่นายพันธ์ จัดทำขึ้นไม่ได้ตัดจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ให้เป็นผู้รับมรดกและพินัยกรรมในส่วนทรัพย์มรดกของนายพันธ์ตกเป็นอันไร้ผลเนื่องจากว่ามีการรบมรดกตามเงื่อนไขในส่วนของนางลอยเสร็จสิ้นแล้ว และเงื่อนไขตามพินัยกรรม ข้อ 2 ข.และ ค. ไม่อาจสำเร็จลงได้ เนื่องจากนางลอย ตายก่อนนายพันธ์และบุตรของโจทก์ไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพินัยกรรมดังกล่าวมาอ้างรับมรดกได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า พินัยกรรมส่วนของนายพันธ์ตกเป็นอันไร้ผล จำเลยที่ 3 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายพันธ์ และมิได้ถูกตัดมิให้รับมรดก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความในพินัยกรรมข้อ 1 แม้นายพันธ์และนางลอยจะแสดงเจตนายกทรัพย์สินของตนที่มีอยู่ขณะทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหมดแต่ผู้เดียว แต่พินัยกรรมข้อ 2 ก็ระบุว่า “แต่พินัยกรรมนี้ให้เงื่อนไขดังนี้”ดังนั้นการยกทรัพย์สินให้โจทก์ตามพินัยกรรม ข้อ 1 จึงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมข้อ 2 ซึ่งในพินัยกรรมข้อ 2ได้กำหนดเนื้อหาเกี่ยวกับการรับทรัพย์มรดกไว้อย่างละเอียดชัดเจนทั้งเมื่อพิจารณาข้อความในพินัยกรรมข้อ 2 ข. ที่ระบุว่าหากนายพันธ์ตายก่อนนางลอยให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนี้ทั้งหมด ยิ่งแสดงให้เห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมที่ประสงค์ให้พินัยกรรมข้อ 2 เป็นเนื้อหาของพินัยกรรมฉบับนี้ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องระบุข้อความดังกล่าวนั้นอีกเพราะมีข้อกำหนดให้ทรัพย์มรดกตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรมข้อ 1 อยู่แล้วและตามพินัยกรรมข้อ 2 ข. นี้ยังระบุให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งหมด จึงย่อมไม่มีทรัพย์ตามพินัยกรรมที่จะตกทอดแก่โจทก์ในกรณีที่นางลอยถึงแก่ความตายภายหลังอีก แสดงให้เห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมที่ต้องการให้การรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในพินัยกรรมข้อ 2 พินัยกรรมเอกสารหมาย จ.2จึงมีเนื้อหาและผลบังคับตามข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 2 เท่านั้นหาใช่ข้อกำหนดพินัยกรรม ข้อ 1 มีผลบังคับเป็นหลักหรือแม่บทไม่
ข้อกำหนดพินัยกรรมตามข้อ 2 ค. ที่นางลอย ยกทรัพย์ตามพินัยกรรมส่วนหนึ่งให้แก่บุตรของโจทก์ที่โจทก์อุ้มท้องอยู่ ถ้าได้คลอดออกมาเพราะเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจสำเร็จได้และเมื่อนางลอย ตายก่อนนายพันธ์ พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามข้อ 2 ก. ที่ระบุให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งแบ่งให้นายพันธ์ซึ่งต่อมาก็ได้ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินตามพินัยกรรมข้อ 2 ก. ระหว่างโจทก์และนายพันธ์ เสร็จสิ้นไปแล้วดังนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมที่เหลือในข้อ 2 ข. ที่นายพันธ์แสดงเจตนาไว้ซึ่งระบุว่าถ้านายพันธ์ตายก่อนนางลอย ให้โจทก์ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมทั้งหมด จึงเป็นอันตกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(2) เมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนายพันธ์ไม่มีผลบังคับโจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิในฐานะผู้รับทรัพย์มรดกของนายพันธ์ตามพินัยกรรมมาฟ้องจำเลยทั้งสามมิให้เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของนายพันธ์ และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่า จำเลยทั้งสามถูกตัดมิให้รบมรดกของนายพันธ์หรือไม่อีกต่อไป
พิพากษายืน

Share