แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 2 มกราคม2533 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ดังนั้น ขณะฟ้องจึงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยไล่โจทก์ออกจากงาน เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การเลิกจ้างของจำเลยไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ แต่โจทก์หยุดงานอยู่เสมอ เป็นผู้ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน การเลิกจ้างของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 14,220 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1,343 บาท ให้แก่โจทก์ส่วนคำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่15 สิงหาคม 2532 แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 ดังนั้น ในวันที่15 สิงหาคม 2532 จึงยังไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่15 สิงหาคม 2532 และข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 ก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2533 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ฉะนั้น ขณะฟ้องจึงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน