คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5006/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายความจะต้องรักษาผลประโยชน์ของลูกความและเอาใจใส่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลภายในกำหนดเวลาที่ศาลสั่ง ทนายโจทก์อ้างว่าหลงลืมและเข้าใจผิดถึงสถานที่ที่จะนำส่งจึงไม่ได้นำส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นข้อแก้ตัวได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 โดยถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิสัญญาเช่าซื้อแทนป. ผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน และร้องขอให้เรียกป. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ แม้โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของ บ. ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ บ. ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถของ บ.ให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อโดยชำระภายในกำหนด 1 ปีนั้น ถือเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้นับแต่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง
การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ใช้รถและใช้ราคารถตามสัญญาเช่าซื้อ มีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164
การส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคานั้น เมื่อ บ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาตาย ถือว่าจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อสืบต่อมาจึงต้องรับผิดคืนรถที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายบังอร ปรางทอง ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แล้วผิดนัดทำให้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง แต่นางบังอรไม่ส่งมอบรถที่อยู่ในสภาพเรียบร้อยคืนตามสัญญาทำให้โจทก์เสียหายจึงขอให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะสามีทายาทของนางบังอรซึ่งถึงแก่กรรมแล้วและเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือ ชดใช้ราคา ๑๔๒,๓๔๐ บาท แทน หากโจทก์ขายได้ราคาไม่ครบจำเลยที่ ๑ต้องชดใช้ราคาที่ขาดด้วย และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย๒๕๒,๕๐๐ บาท กับค่าเสียหายเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะได้รับรถคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอมในการที่ นาง บังอร ปรางทอง ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่รับรองความเป็นนิติบุคคลและการมอบอำนาจของโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนางบังอร และไม่ได้นำรถไปใช้ส่วนตัว หรือใช้ในกิจการร่วมกับนางบังอร หนี้ตามฟ้องมิใช่หนี้ร่วม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมค่าเสียหายไม่มากตามฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกนางปลีก พ่วงศรี มารดาและผู้จัดการมรดกของนางบังอร ปรางทองเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำขอของโจทก์ และมีคำสั่งว่าจำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ แต่โจทก์ไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๑เป็นการทิ้งอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์สั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาคำสั่งและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่า โจทก์ไม่มีเจตนาเพิกเฉยไม่ดำเนินการนำส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ ๑ ภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นสั่ง ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ ๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าปกติทนายความจะต้องรักษาผลประโยชน์ของลูกความและเอาใจใส่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลภายในกำหนดเวลาที่ศาลสั่ง ที่ทนายโจทก์อ้างว่าไม่ได้นำส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นเพราะความหลงลืมและเข้าใจผิดถึงสถานที่ที่จะนำส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่เป็นข้อแก้ตัวได้ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ โดยถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์มานั้นชอบแล้ว
โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า นอกจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑รับผิดในฐานะทายาทของนางบังอรผู้เช่าซื้อแล้ว ยังให้รับผิดในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกันตามคำฟ้องข้อ ๒วรรค ๒ ที่ว่านางบังอรและจำเลยที่ ๑ ได้นำรถที่เช่าซื้อไปใช้ในกิจการรับเหมาถมที่ดินอันเป็นกิจการที่สามีภริยาทำร่วมกันมิใช่ฟ้องให้ทายาทกองมรดกรับผิด ซึ่งมีอายุความ ๑ ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และจำเลยที่ ๑ ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถคันพิพาทให้โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการับสภาพหนี้ต่อโจทก์ อายุความจึงสะดุดหยุดลงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิสัญญาเช่าซื้อแทนนางบังอรผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกัน และร้องขอให้เรียกนางปลีกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของนางบังอรให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ แม้โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการตายของนางบังอรตามที่จำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้ก็ตาม พฤติการณ์ที่จำเลยที่ ๑ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางบังอรชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถของนางบังอรให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อโดยชำระภายในกำหนด๑ ปีนั้น ถือเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้นับแต่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลงคือวันที่เช็คถึงกำหนดสั่งจ่ายอันเป็นวันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องหนี้ตามเช็คนั้นเป็นต้นไป มูลหนี้ในเรื่องนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ใช้รถ และใช้ราคารถตามสัญญาซึ่งมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๔ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ อย่างไรก็ตามเมื่อศาลอุทธรณ์สั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ ไปแล้วโดยถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ ๑ จึงบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามฟ้องไม่ได้ คงบังคับให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำเลยร่วมในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนางบังอรชำระหนี้ดังกล่าวได้เท่านั้น
ในปัญหาเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าเสียหายที่โจทก์อ้างเป็นจำนวนที่สูงเกินไป เพราะในสัญญาเช่าซื้อเองก็กำหนดค่าเช่าซื้อกันไว้เพียงเดือนละ ๑๒,๙๔๐ บาทเท่านั้น ทั้ง ๆที่เป็นการคิดราคารถรวมกับค่าเช่า จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ในส่วนนี้เพียงเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท เป็นเวลาก่อนฟ้อง๒๓ เดือน เป็นเงิน ๑๑๕,๐๐๐ บาท ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาร้อยละ ๑๕ ต่อปีนั้น ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้เพราะเหตุใด จึงกำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยเพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ใช้รถตั้งแต่วันฟ้องเห็นสมควรกำหนดเป็นเวลาไม่เกิน ๑๒ เดือน
ในเรื่องการให้ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคานั้น สำหรับจำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถที่เช่าซื้อ ทั้งโจทก์มิได้ขอให้ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนด้วย จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดในส่วนนี้ ส่วนจำเลยร่วมซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางบังอร เนื่องจากนางบังอรเป็นคู่สัญญากับโจทก์ เมื่อนางบังอรตายถือว่าจำเลยร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อสืบต่อมาจึงต้องรับผิดคืนรถที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแก่โจทก์ แต่ในเรื่องราคาที่ต้องใช้คืนซึ่งโจทก์ขอมาจำนวน ๑๔๒,๓๔๐บาท เท่าราคาค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นั้น เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ทางได้ทางเสียของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์เรียกมาสูงเกินไปเพราะราคารถที่เช่าซื้อดังกล่าวเป็นการคิดราคารถรวมกับค่าเช่า ประกอบกับการใช้รถจะต้องมีการเสื่อมราคา จึงกำหนดราคาให้เพียง ๑๑๐,๐๐๐ บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ กับจำเลยร่วมในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของนางบังอรร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๑๑๕,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๔ จนถึงวันฟ้องและค่าเสียหายอีกเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะได้รับรถคืนหรือได้รับชำระราคารถดังกล่าว แต่ไม่ให้เกิน ๑๒ เดือน นับแต่วันฟ้อง กับให้จำเลยร่วมคืนรถที่เช่าซื้อแก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา ๑๑๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share