คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2554

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า ระหว่างเวลาที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้องข้อ 2 และข้อ 2.2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า อันเป็นความผิดตามกฎหมายกรรมหนึ่ง และข้อ 2.3 โจทก์บรรยายฟ้องตอนต้นว่า “หลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันบุกรุกครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำไม้โดยการใช้มีดพร้าตัด ฟัน กาน ต้นไม้หวงห้ามรวม 92 ต้น ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า ตามวันเวลาที่โจทก์ระบุไว้ในข้อ 2 แต่เป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้บุกรุกเข้าไปครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอีกกรรมหนึ่ง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชัดแจ้งว่า เมื่อวันเวลาใด จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานใดบ้าง อันเป็นความผิดต่างกระทงต่างกรรมกัน มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชัดแจ้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2549 วันใดไม่ปรากฏชัดเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยทั้งสามต่างกระทำความผิดและร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยที่ 1 จ้างวานใช้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถางหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากระทะคร่ำ ท้องที่หมู่ที่ 6 ตำบลนบปริง อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา โดยใช้มีดพร้าตัดฟันต้นไม้ แผ้วถางป่า กานต้นไม้ให้ยืนต้นตาย เพื่อจำเลยที่ 1 ยึดถือครอบครองป่าสงวนที่ก่อสร้างเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตต่อมาตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า ยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ทำไม้หวงห้ามหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากระทะคว่ำดังกล่าวข้างต้น โดยใช้มีดพร้าตัดฟันต้นไม้ แผ้วถางป่าตามที่จำเลยที่ 1 ใช้จ้างวาน รวมเป็นเนื้อที่ 10 ไร่ รัฐได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 682,422.20 บาท โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ จากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันบุกรุกครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำไม้โดยใช้มีดพร้าตัด ฟัน กาน ต้นไม้หวงห้ามประเภท ก. คือไม้ท้อนขนุนปาน แซะ ขี้เหล็กป่า แค สมอดีงู แต้ว นน ตีนเป็ด เทพทาโร นนทรี ปอเลียง ฝาละมี บังตาล มังคะ สอม เลือดควาย เหรียง รวมทั้งหมด 92 ต้น แล้วใช้ยาฆ่าตอทาให้ต้นไม้หวงห้ามดังกล่าวยืนต้นตายตามที่จำเลยที่ 1 จ้าง วาน ใช้ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการยกเว้นใดๆ จากพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พร้อมยึดมีดพร้า 2 เล่ม ซึ่งเป็นอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวไว้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 11, 54, 55, 72 ตรี, 73, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 14, 31, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91 ริบมีดพร้าของกลางให้จำเลยทั้งสาม คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2), 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกมาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง (2)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 (ที่ถูก มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ฐานทำไม้หวงห้ามเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 72 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 2 ปี 6 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำไม้เป็นจำนวนมากถึง 92 ต้น การกระทำดังกล่าวเป็นการบ่อนทำลายป่าไม้ทรัพยากรของชาติที่ช่วยรักษาต้นน้ำลำธาร นับว่าเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ริบมีดพร้าของกลาง กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 และบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานทำไม้หวงห้ามจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 3 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาสรุปได้ว่า โจทก์บรรยายฟ้องไม่ชัดเจน โดยไม่ระบุว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานใด เวลาใด จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 จ้าง วาน ใช้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดในคราวเดียวกันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหมายบท มิใช่กระทำคนละคราวเป็นความผิดหลายกรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 เห็นว่า ในคำฟ้องข้อ 2 โจทก์บรรยายฟ้องว่า “เมื่อระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2549 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยทั้งสามต่างได้กระทำความผิดและร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ…” และในฟ้องข้อ 2.2 ตอนต้นโจทก์บรรยายฟ้องว่า “ต่อมาตามวันเวลาที่เกิดเหตุดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้บังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า…” ซึ่งอ่านแล้วได้ความหมายชัดว่า ระหว่างเวลาที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้องข้อ 2 นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า อันเป็นความผิดตามกฎหมายกรรมหนึ่งและในคำฟ้องข้อ 2.3 โจทก์บรรยายฟ้องตอนต้นว่า “หลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันบุกรุกครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำไม้โดยการใช้มีดพร้า ตัด ฟันกาน ต้นไม้หวงห้ามรวม 92 ต้น” ซึ่งก็สามารถเข้าใจได้โดยชัดเจนว่าตามวันเวลาที่โจทก์ระบุไว้ในข้อ 2 แต่เป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้บุกรุกเข้าไปครอบครองป่าและป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามกฎหมายอีกกรรมหนึ่ง ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชัดแจ้งว่า เมื่อวันเวลาใด จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานใดบ้าง อันเป็นความผิดต่างกระทงต่างกรรมกัน มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ว่ากระทำความผิดหลายกรรมต่างกันนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share