คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13485/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แม้จะระบุข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแล้วบังคับให้บอกที่ซ่อนทรัพย์และเมื่อได้ทรัพย์จำนวนน้อยก็ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีก เป็นเพียงการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อให้ครบองค์ประกอบในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามคำขอท้ายฟ้องอันเป็นความผิดกรรมเดียวเท่านั้น เมื่อลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายแล้วจะลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นอีกกรรมหนึ่งไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรม ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 340, 340 ตรี ริบของกลาง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินและใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 960 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์
ชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83, 339 วรรคสาม จำคุกจำเลยที่ 1 6 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 คงจำคุก 9 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 960 บาท แก่ผู้เสียหาย
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อหาชิงทรัพย์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกและยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 960 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอีก 1 คน ที่หลบหนี ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย มีบาดแผลยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ที่บริเวณศีรษะ ตาซ้ายซ้ำบวม และฟันหัก 2 ซี่ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เงินจำนวน 460 บาท และกุญแจรถจักรยานยนต์พร้อมกุญแจบ้านจำนวน 5 ชุด ราคา 500 บาท ของนายทวีศักดิ์ ผู้เสียหาย ด้วยหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เมื่อถูกจำเลยที่ 1 กับพวกกลุ้มรุมทำร้าย โดยจำเลยที่ 1 ใช้ขวดสุราฟาดศีรษะของผู้เสียหาย และจำเลยที่ 1 กับพวกยังชกต่อยและเตะผู้เสียหาย ผู้เสียหายพูดขอมิให้ทำร้าย จำเลยที่ 1 พูดให้ผู้เสียหายให้เงินที่มีอยู่แก่จำเลยที่ 1 และชกต่อยผู้เสียหายจนกระทั่งผู้เสียหายต้องยอมรับว่ามีเงินอยู่ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่มา และมอบกุญแจรถให้จำเลยที่ 1 นำไปเปิดเบาะแล้วเอาเงินจำนวน 460 บาท ที่ผู้เสียหายเก็บไว้ในกระเป๋าเงินซึ่งวางอยู่ใต้เบาะไป จากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกยังร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนหมดสติ เห็นว่า แม้ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว แต่ผู้เสียหายไม่เคยมีสาเหตุกับจำเลยที่ 1 และพวกมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ควรระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับโทษหนักขึ้นจากความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายเบิกความให้ข้อเท็จจริงเป็นลำดับขั้นตอนตั้งแต่ก่อนเริ่มเกิดเหตุโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งคือพันตำรวจโทบัณฑิต พนักงานสอบสวนคดีนี้ เบิกความให้ข้อเท็จจริงว่าพันตำรวจโทบัณฑิตได้รับแจ้งเหตุคดีนี้จากญาติของผู้เสียหายเมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกา คืนเดียวกัน พันตำรวจโทบัณฑิตประสานงานกับจ่าสิบตำรวจเทียนชัยเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวน เพื่อสืบสวนหาตัวคนร้าย ปรากฏว่า จ่าสิบตำรวจเทียนชัยสืบสวนจนได้ความจากนายสุวัจชัยหรือเอก ซึ่งนั่งร่วมวงดื่มสุรากับจำเลยที่ 1 กับพวก ในคืนเกิดเหตุนั้นว่า จำเลยที่ 1 กับพวกน่าจะเป็นกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุคดีนี้ จ่าสิบตำรวจเทียนชัยเดินทางไปบ้านของจำเลยที่ 1 ไม่พบจำเลยที่ 1 แต่ได้ยึดเสื้อยืดเปื้อนโลหิตที่จำเลยที่ 1 สวมใส่ในคืนเกิดเหตุมาส่งมอบให้พันตำรวจโทบัณฑิตเป็นของกลางตามภาพถ่าย และบัญชีของกลางคดีอาญากับคำให้การชั้นสอบสวนของจ่าสิบตำรวจเทียนชัย คำเบิกความของพันตำรวจโทบัณฑิตจึงสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายให้มีน้ำหนักรับฟังยิ่งขึ้น พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดื่มสุราจนเป็นเหตุให้ขาดความยับยั้งชั่งใจและเกิดความคึกคะนองจึงก่อเหตุตามฟ้องขึ้น หาใช่เพียงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้นไม่ พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งนำสืบปฏิเสธในความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ส่วนที่ยื่นคำแก้ฎีกาว่า เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยยกฟ้องในความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงต้องยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาเดียวกันนี้ด้วยเพราะเป็นเหตุลักษณะคดีนั้น หามีน้ำหนักรับฟังไม่ เพราะศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยข้อเท็จจริงเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเท่านั้น จึงมิใช่เป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งจะมีผลมาถึงจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานชิงทรัพย์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แม้จะระบุข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแล้วบังคับให้บอกที่ซ่อนทรัพย์และเมื่อได้ทรัพย์จำนวนน้อยก็ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอีก เป็นเพียงการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อให้ครบองค์ประกอบในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามคำขอท้ายฟ้องอันเป็นความผิดกรรมเดียวเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นความผิด 2 กรรมคือ ร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายกรรมหนึ่ง และความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายอีกกรรมหนึ่งมานั้น จึงไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรม จะลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายมิได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม จำคุก 6 ปี 8 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 960 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share