แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายถึงข้อหาว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาจึงทำบันทึกข้อความยอมรับชำระหนี้แก่โจทก์และจำเลยที่2ถึงที่4เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่1โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ส่วนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือสัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่จำเลยที่1ทำไว้กับโจทก์กับบันทึกข้อตกลงยอมรับชำระหนี้แก่โจทก์และสัญญาค้ำประกันจำเลยที่1ที่จำเลยที่2ถึงที่4ทำไว้ต่อโจทก์และคำขอบังคับคือโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวนตามฟ้องดังนี้คำฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยแจ้งขัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นข้อหาแล้วส่วนในช่องข้อหาแม้โจทก์จะระบุข้อหาไว้ไม่ละเอียดเท่าที่ปรากฏตามเนื้อความในคำฟ้องก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเคลือบคลุมส่วนข้อที่ว่าจำเลยได้รับหรือใช้วงเงินสินเชื่อของโจทก์ไปกี่ครั้งครั้งละจำนวนเท่าใดและโจทก์ชำระเงินให้แก่ธนาคารไปก่อนแล้วเป็นจำนวนเท่าใดเพื่อแสดงว่าได้รับเงินจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าใดนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่1ได้ทำสัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศไว้กับโจทก์และจำเลยที่2ได้เข้าค้ำประกันจำเลยที่1แต่จำเลยที่1และที่2ไม่ชำระหนี้จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องได้จำเลยที่1และที่2จึงไม่อาจโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพราะโจทก์ดำเนินกิจการตามสัญญาดังกล่าวนอกขอบวัตถุประสงค์ได้และสัญญาสัญญามิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อการสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงมีผลใช้บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1มิได้ตกเป็นโมฆะ สัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศกำหนดให้จำเลยที่1เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเองมิได้ตั้งโจทก์ให้เป็นตัวแทนในการสั่งสินค้าจากต่างประเทศจำเลยที่1เพียงแต่ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารและจำเลยที่1ขอใช้วงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวเงินสินเชื่อนั้นจึงมิใช่เงินทดรองที่โจทก์ออกไปก่อนในการเป็นตัวแทนจำเลยที่1ในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศและเงินค่าตอบแทน1เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเลตเตอร์ออฟเครดิตก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเงินค่าบำเหน็จในการเป็นตัวแทนหรือเป็นสินจ้างในการงานที่โจทก์รับทำสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมิได้มีกำหนดอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา165(1)และ(7)เดิมแต่เป็นกรณีไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องถืออายุความทั่วไปคือ10ปีตามมาตรา164เดิม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2528 จำเลยที่ 1ขอวงเงินสินเชื่อจากโจทก์ที่มีต่อธนาคารในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศในวงเงิน 3,500,000 บาทโดยจำเลยที่ 1 จะนำเอกสารในการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตมามอบให้โจทก์และมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะชำระราคาค่าสินค้าพร้อมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทุกประเภทที่โจทก์ได้ชำระให้ธนาคารไปก่อนให้แก่โจทก์ในวันที่จำเลยที่ 1 มารับเอกสารการออกสินค้าจากโจทก์ หากผิดนัด จำเลยที่ 1 ตกลงให้คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามหนังสือสัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครเดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โดยมีจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้หลายครั้งต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2529 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงยอมรับชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ จำนวน 3,547,468.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเดือนละ 60,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529ถึง 31 ธันวาคม 2529 และเดือนละ 120,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จภายหลังทำบันทึกข้อตกลง จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำนวน 9,999.50 บาท และชำระดอกเบี้ยจำนวน29,706.74 บาท คงค้างชำระยอดหนี้ต้นเงินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,537,518.86 บาท และดอกเบี้ยถึงวันที่ 10 มกราคม 2532อีก 1,121,287.72 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 5,903,237.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,537,518.86 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเงินทุนให้กู้ยืมเงินหรือให้วงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาล เพราะนิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โดยไม่บรรยายข้อหาหรือฐานความผิดให้ชัดแจ้งว่าจำเลยจะต้องรับผิดฐานใดตามสัญญาใดภายหลังขอวงเงินสินเชื่อแล้วมีการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกี่ครั้ง สินค้าประเภทใด จำนวนและราคาเท่าใด เพื่อแสดงว่าจำเลยได้รับเงินจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าใดหนังสือสัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและบันทึกข้อตกลงไม่ใช่หลักฐานการกู้ยืมเงินตามกฎหมายและบันทึกข้อตกลงไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่มาเป็นการกู้ยืมเงินโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้าใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อนจากลูกหนี้เกิน 2 ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) และ (7) ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,903,237.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 3,537,518.86 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะคำฟ้องโจทก์ไม่บรรยายข้อหาให้ชัดแจ้งถึงสภาพของนิติกรรมที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือให้จำเลยรับผิดตามสัญญาขอใช้วงเงินสินเชื่อหรือผิดสัญญากู้ยืม ซึ่งในช่องข้อหาความผิดโจทก์ระบุเพียงว่าผิดสัญญาโจทก์บรรยายคำฟ้องสองแง่ให้ศาลปรับเอาว่าข้อเท็จจริงที่บรรยายในคำฟ้องประกอบข้อเท็จจริงที่นำสืบชั้นพิจารณาว่าเป็นข้อหาฐานความผิดใดสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์ไม่ชัดแจ้ง จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องโจทก์และโจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้รับหรือใช้วงเงินสินเชื่อของโจทก์ไปกี่ครั้ง ครั้งละจำนวนเท่าใด โจทก์ชำระเงินให้แก่ธนาคารไปก่อนแล้วเป็นจำนวนเท่าใดนั้นเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายถึงข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจึงทำบันทึกข้อความยอมรับชำระหนี้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคดีคือสัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์กับบันทึกข้อตกลงยอมรับชำระหนี้แก่โจทก์ และสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำไว้ต่อโจทก์ และคำขอบังคับคือโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวนตามฟ้องดังนี้ คำฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นข้อหาแล้ว ส่วนในช่องข้อหาแม้โจทก์จะระบุข้อหาไว้ไม่ละเอียดเท่าที่ปรากฏตามเนื้อความในคำฟ้องก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเคลือบคลุม ส่วนข้อที่ว่าจำเลยได้รับหรือใช้วงเงินสินเชื่อของโจทก์ไปกี่ครั้ง ครั้งละจำนวนเท่าใดและโจทก์ชำระเงินให้แก่ธนาคารไปก่อนแล้วเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อแสดงว่าได้รับเงินจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าใดนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องได้บรรยายมาเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการให้วงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศโจทก์ไม่ใช่ธนาคารหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือเครดิตฟองซิเอร์ไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์หรือกิจการการเงินเพื่อสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศโจทก์ดำเนินกิจการนอกวัตถุประสงค์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้และนิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า แม้ตามหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 จะมิได้ระบุวัตถุประสงค์ของโจทก์ว่าโจทก์อาจทำสัญญากับผู้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศโดยยอมให้ผู้สั่งซื้อขอใช้วงเงินสินเชื่อในการที่โจทก์เป็นผู้ดำเนินการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารในนามของโจทก์แทนผู้สั่งซื้อได้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาขอวงเงินสินเชื่อตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เพื่อค้ำประกันการที่โจทก์ทดรองเงินจ่ายไปก่อนแต่หนี้ตามวงเงินสินเชื่อได้มีการชำระหนี้แล้ว ดังนี้เท่ากับจำเลยที่ 1 รับว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวไว้กับโจทก์จริงเพียงแต่อ้างว่าได้มีการชำระหนี้ตามสัญญานั้นแล้ว จึงไม่ต้องรับผิด ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูหนังสือสัญญาดังกล่าวตามเอกสารหมายจ.3 แล้วก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราห้างจำเลยที่ 1ไว้ในหนังสือสัญญาดังกล่าวในฐานะเป็นคู่สัญญา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.3 ไว้กับโจทก์จริง และเมื่อตรวจดูสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ได้เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาดังกล่าวและลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารหมาย จ.4ทั้งบันทึกข้อตกลงยอมชำระหนี้แก่โจทก์ตามเอกสารหมายจ.5 และ จ.7 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ก็ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราห้างจำเลยที่ 1 ไว้ ดังนี้ เมื่อโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.3 จ.<4 จ.5 และ จ.7 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2เพิกเฉย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพราะโจทก์ดำเนินกิจการตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 นอกขอบวัตถุประสงค์ได้ และสัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด
ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะสัญญาเอกสารหมาย จ.3 เป็นโมฆะเนื่องจากขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์ ดังนั้น บรรดาหนังสือค้ำประกันและหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 และ จ.7 ที่ทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.3 ย่อมตกเป็นโมฆะไปด้วยนั้น เห็นว่าเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 มีผลใช้บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ตกเป็นโมฆะ ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4และหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมายจ.5 และ จ.7 ซึ่งมีมูลหนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 จึงสมบูรณ์และบังคับกันได้ตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า คำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะจำเลยที่ 1 เป็นตัวการตั้งโจทก์เป็นตัวแทนสั่งสินค้าจากต่างประเทศ โดยมีข้อตกลงให้บำเหน็จแก่ตัวแทนคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องผู้ประกอบการค้าเรียกเงินที่ได้ออกทดรองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) และ(7) เดิมมีอายุความ 2 ปี หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.5 และ ข.7 เป็นการรับสภาพหนี้ตามสัญญาขอวงเงินสินเชื่อเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นสัญญาประธาน มีอายุความ 2 ปี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันทำบันทึกนั้น เห็นว่า ตามสัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1. ระบุว่าเอกสารการส่งสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเข้ามาให้ระบุชื่อของจำเลยที่ 1 ผู้สั่งซื้อในเอกสาร การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งใช้วงเงินของสัญญานี้ผู้สั่งซื้อจะเป็นผู้ติดต่อกับผู้ขายในต่างประเทศเรื่องการซื้อขายราคา และข้อตกลงต่าง ๆ ให้เรียบร้อยก่อน แล้วผู้สั่งซื้อจึงมีหนังสือแจ้งมาให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อกับธนาคารเพื่อขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารต่อไป ข้อ 2. ระบุว่า เมื่อสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ผู้สั่งซื้อขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตส่งมาถึงประเทศไทย ผู้สั่งซื้อจะเป็นผู้ดำเนินการนำสินค้าออกจากการท่าเรือ ท่าอากาศยานและด่านศุลกากรเอง ค่าภาษีนำเข้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆทุกประเภทในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนี้ ผู้สั่งซื้อเป็นผู้ออกแต่ฝ่ายเดียว และข้อ 3. ระบุว่า ผู้สั่งซื้อตกลงให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่โจทก์ในการที่โจทก์ให้ใช้วงเงินสินเชื่อของโจทก์ที่มีอยู่กับธนาคารและรับเป็นผู้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารให้แก่ผู้สั่งซื้อ ผู้สั่งซื้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์ในอัตรา 1 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตามเลตเตอร์ออฟเครดิต ดังนี้ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเองมิได้ตั้งโจทก์ให้เป็นตัวแทนในการสั่งสินค้าจากต่างประเทศแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 เพียงแต่ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารและจำเลยที่ 1ขอให้วงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวเงินสินเชื่อนั้นจึงมิใช่เงินทดรองที่โจทก์ออกไปก่อนในการเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศและเงินค่าตอบแทน 1 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าเลตเตอร์ออฟเครดิตก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเงินค่าบำเหน็จในการเป็นตัวแทนหรือเป็นสินจ้างในการงานที่โจทก์รับทำ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมิได้มีกำหนดอายุความ 2 ปี ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) และ (7) เดิมสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้ โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจขอให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ เมื่อบันทึกรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมายจ.5 และ จ.7 ทำกันเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2529 และ10 กันยายน 2528 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2534 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน