แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำพ.ศ. 2515 ก็ดี ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2527 ก็ดี ต่างก็ได้ออกโดยอาศัยอำนาจประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 จึงมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายเมื่อจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นนายจ้างของโจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว แม้จะมีมติของคณะรัฐมนตรีห้ามรัฐวิสาหกิจทำการปรับปรุงค่าจ้างของลูกจ้างเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นพิเศษ แต่ก็ปรากฏว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวมีผลใช้บังคับภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ จำเลยจึงไม่อาจอ้างมติคณะรัฐมนตรีมาเป็นข้อยกเว้นบทกฎหมายได้ และถือว่าจำเลยผิดนัดในการจ่ายค่าจ้าง ต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคแรก อีกด้วย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2527 ซึ่งกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 70 บาท ในกรุงเทพมหานครขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้จงใจไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 15) เนื่องจากการที่จะปรับปรุงอัตราเงินเดือนของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจได้ คณะรัฐมนตรีมีมติห้ามปรับปรุงเป็นอันขาดเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลจึงต้องถือปฏิบัติตาม จำเลยจึงมิได้จงใจผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างส่วนที่ขาดพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ได้กำหนดหลักการให้มีการดำเนินงานเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง อันเป็นการจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาล เพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพแต่ละท้องที่ โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ครั้นต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 15)ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2527 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2528 เป็นต้นไป ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดกรณีพิพาท ข้อ 3กำหนดว่า “ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละเจ็ดสิบบาทในกรุงเทพมหานคร ฯลฯ” และข้อ 7 กำหนดว่า “ห้ามมิให้นายจ้างค่าจ้างเป็นเงินน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฯลฯ” โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2(4) และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 อีกเช่นเดียวกัน เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำก็ดี ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 15) ดังกล่าวข้างต้นก็ดีต่างได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จึงมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เมื่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2527 กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 770 บาท ใช้บังคับแล้ว จำเลยผู้เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำเพียงคนละ 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปคนละ 100 บาทต่อเดือนเช่นนี้ การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนดังกล่าว จึงฝ่าฝืนข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้น อันมีผลบังคับเป็นกฎหมายและอีกประการหนึ่ง ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2527 ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 นั้น ได้กำหนดให้ใช้บังคับภายหลังจากมติของคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 15 กันยายน 2524 ซึ่งห้ามมิให้รัฐวิสาหกิจทำการปรับปรุงค่าจ้าง เงินเดือน หรือสวัสดิการอื่นใดที่อาจคิดเป็นตัวเงินได้ของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเป็นอันขาดเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นพิเศษ แล้วเช่นนี้จำเลยจะอ้าง มติของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นมาเป็นข้อยกเว้นบทกฎหมายซึ่งห้ามมิให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 70 บาท แก่โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของตนดังที่จำเลยอุทธรณ์หาได้ไม่อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า จำเลยมิได้ผิดนัดจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปีแก่โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า ในปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและมติของคณะรัฐมนตรีอันเป็นเรื่องผิดนัดธรรมดา ดังนั้นกรณีจึงต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 31 วรรคแรก ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ถ้านายจ้างผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างฯลฯ ให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี” จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าจ้างที่ค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ15 ต่อปีอีกด้วย ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 70 บาท ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 15) และให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน