แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อายุความฟ้องคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ต้องถือตามอัตราโทษที่พิจารณาได้ความและกำหนดไว้ในมาตราที่ศาลยกขึ้นปรับเมื่อได้ความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 65 ทั้งสองวรรค การพิจารณาอายุความจึงต้องใช้อัตราโทษในวรรคหนึ่งซึ่งมีโทษหนักที่สุดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ซึ่งมาตรา 65 วรรคหนึ่ง มีอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 เดือน จึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) และคดีนี้เหตุเกิดวันที่ 9 มิถุนายน 2540 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 จึงไม่ขาดอายุความ
การที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ครอบครองและดัดแปลงอาคารตามที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ร่วมกันใช้และยินยอมให้บุคคลอื่นใช้อาคาร ซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ประกอบกิจการพาณิชยกรรมโรงแรม คลังสินค้า โรงมหรสพ สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โดยที่จำเลยทั้งสามยังไม่ได้รับใบรับรองการดัดแปลงอาคารแล้วเสร็จจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำความผิดในฐานะผู้ดำเนินการดัดแปลงอาคาร ซึ่งจะต้องรับโทษหนักขึ้นเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 69
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาและกำหนดโทษจำเลยทั้งสามตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 65 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยมิได้ปรับบทมาตรา 65 วรรคหนึ่งมาด้วย ปัญหาว่าศาลล่างทั้งสองปรับบทมาตราถูกต้องหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วย มาตรา 246,247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 32, 65, 69, 70, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนเป็นเวลารวม 254 วัน
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32, 65 วรรคสอง, 69, 70 และ 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน และปรับจำเลยทั้งสามคนละ 10,000 บาท กับให้ปรับจำเลยทั้งสามอีกคนละวันละ 10,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 รวม 254 วัน เป็นเงินคนละ 2,540,000 บาท รวมปรับจำเลยทั้งสามคนละ 2,550,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 กับที่ 3 คนละ 3 เดือน และปรับจำเลยทั้งสามคนละ 1,275,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการแรกว่า ความผิดของจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 ที่แก้ไขใหม่ได้บัญญัติไว้ ดังนี้
“มาตรา 65 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 52 วรรคหก มาตรา 57 หรือมาตรา 60 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 หรือมาตรา 57 ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”
ตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำความผิดสำเร็จตามบทมาตราที่ระบุไว้ทั้งสองวรรคไปในคราวเดียวกันกล่าวคือ นอกจากผู้กระทำความผิดสำเร็จจะต้องรับโทษทั้งจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 65วรรคหนึ่ง แล้วยังจะต้องรับโทษปรับเป็นรายวันตามมาตรา 65 วรรคสอง พร้อมกันไปในคราวเดียวกันด้วย การพิจารณานับอายุความสำหรับความผิดตามมาตรา 65 นี้ จึงต้องใช้ระวางโทษในวรรคหนึ่งซึ่งมีโทษหนักที่สุดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาใช่นับอายุความในแต่ละวรรคแยกต่างหากจากกันตามที่จำเลยทั้งสามเข้าใจไม่ ส่วนโทษปรับตามมาตรา 65 วรรคสอง นี้ คณะกรรมการเปรียบเทียบคดีจะมีอำนาจเปรียบเทียบตามมาตรา 74 หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการนับอายุความ เมื่อปรากฏว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษขั้นสูงให้จำคุกไม่เกิน 3 เดือน จึงมีอายุความฟ้องร้อง 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 ยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามเริ่มกระทำความผิด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการต่อไปว่า ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามฐานเป็นผู้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 69 มาด้วยนั้นเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่าผู้ดำเนินการไว้ ดังนี้ “ผู้ดำเนินการ” หมายความว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารซึ่งกระทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารด้วยตนเองและหมายความรวมถึงผู้ซึ่งตกลงรับกระทำการดังกล่าวไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม และผู้รับจ้างช่วง”คดีนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ครอบครองและดำเนินการดัดแปลงอาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์ตามที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้ร่วมกันใช้และยินยอมให้บุคคลอื่นใช้อาคารดังกล่าวซึ่งเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ ประกอบกิจการพาณิชยกรรม โรงแรม คลังสินค้า โรงมหรสพ สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โดยที่จำเลยทั้งสามยังไม่ได้รับใบรับรองการดัดแปลงอาคารดังกล่าวแล้วเสร็จจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคสาม บัญญัติไว้ จึงถือได้ว่า ความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดของผู้ดำเนินการดัดแปลงอาคารดังกล่าวซึ่งต้องระวางโทษหนักขึ้นเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ตามมาตรา 69 แล้ว การเพิ่มระวางโทษเป็นสองเท่าตามมาตรานี้หาได้มีได้แต่เฉพาะกรณีความผิดฐานก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 21 มาตราเดียว ตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
สำหรับข้อที่จำเลยทั้งสามฎีกาในประการสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32, 65 วรรคสอง, 69, 70, 72 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยมิได้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แต่ศาลล่างทั้งสองกลับกำหนดโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง มาด้วยเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การปรับบทลงโทษของศาลล่างทั้งสองดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคสาม ประกอบมาตรา 65, 69 และ 70 และได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามบทมาตราดังกล่าวมา โดยครบถ้วนแล้ว จึงเป็นอำนาจของศาลที่จะต้องปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 65 ทั้งวรรคหนึ่ง และวรรคสองดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาและกำหนดโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แต่มิได้พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งมาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสาม และเมื่อศาลฎีกาจะต้องพิพากษาแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งด้วยแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้อีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่งด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์