คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7768/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขณะเกิดเหตุ ว. จะเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาโดยการว่าจ้างตามความในมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 แต่ปลัดเมืองพัทยาก็มีฐานะเป็นพนักงานเมืองพัทยาตามความในมาตรา 64 และพนักงานเมืองพัทยามีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. ตามความในมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดคดีนี้ ดังนั้น หากขณะดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ว. ได้กระทำการใดผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และ ว. มิได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน ว. ก็ต้องรับผิดในทางอาญาในฐานะเจ้าพนักงานตามที่ ป.อ. มาตรา 2 และมาตรา 147 ถึงมาตรา 166 บัญญัติไว้ แม้จะปรากฏว่าภายหลังกระทำความผิดได้มี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาแตกต่างจากกฎหมายเดิม แต่ความผิดที่ ว. ถูกกล่าวหาในคดีนี้มิได้มีการยกเลิกไปและก็มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายใหม่บัญญัติว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดหรือกำหนดโทษเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จะอ้าง ป.อ. มาตรา 2 และมาตรา 3 มาเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 ได้
จำเลยที่ 3 กับพวกได้ร่วมกันใช้หรือจ้างวานให้นาย อ. กับ ส. ไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ให้จดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42827 ในราคา 1,200,000 บาท และจำเลยที่ 3 กับพวก ได้ร่วมกันใช้หรือจ้างวานให้ ย. กับ อ. ไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ให้จดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42958 ในราคา 1,400,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วบุคคลทั้งสี่ดังกล่าวมิได้มีเจตนาซื้อขายที่ดินกันจริง เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงดำเนินการจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวในเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดิน และบันทึกในสารบัญจดทะเบียนในโฉนดที่ดินดังกล่าวอันเป็นเอกสารมหาชนและเอกสารราชการ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนและเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 267 ประกอบมาตรา 84
เมื่อ ว. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 และเมื่อการกระทำของ ว. เป็นความผิดตามมาตรา 151 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อที่ดินของเมืองพัทยาด้วย จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 151 แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดดังกล่าวของ ว. จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบด้วยมาตรา 86 อันเป็นความผิดบทเฉพาะและไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ประกอบด้วยมาตรา 86 เป็นบททั่วไปเช่นเดียวกัน เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องยกข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างมาในฎีกาขึ้นวินิจฉัย
ความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 นั้น มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมก่อให้ ว. ปลัดเมืองพัทยากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอยู่ในตัว แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า ในช่วงวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้สินบนหรือเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้ ว. ปลัดเมืองพัทยากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ได้เป็นตัวการร่วมกับ ว. กับพวกกระทำการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะเมืองพัทยาอย่างเป็นขบวนการโดยมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันกระทำมาแต่ต้นจนกระทั่งความผิดสำเร็จ เพียงแต่จำเลยที่ 1 ขาดคุณสมบัติการเป็นเจ้าพนักงาน จึงรับโทษแค่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของ ว. กับพวกดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานหรือไม่ก็ตาม ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ย่อมเกลื่อนกลืนเป็นการกระทำความผิดในกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตแล้ว ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานะเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ได้แต่เพียงบทเดียวเท่านั้น กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานอันเป็นบทเฉพาะเจาะจงแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอีก
การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องข้อ (ข) (ง) และข้อ (ฉ) เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายต่างคนกันและเป็นเหตุการณ์คนละตอนกัน แม้จะอยู่ในแผนการทุจริตคอร์รัปชันเดียวกัน ก็มีการกระทำหลายอย่างและแต่ละอย่างเป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบททั้งฐานใช้ให้ผู้อื่นแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามคำฟ้องข้อ (ง) (ฉ) และ (ข)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 84, 86, 91, 144, 151, 157, 267 และริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 267 ประกอบมาตรา 84 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีกำหนดคนละ 3 ปี 4 เดือน ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามคำฟ้องข้อ (ง) และข้อ (ฉ) จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดกระทงละคนละ 1 ปี (รวม 2 กระทง) ฐานเป็นเจ้าพนักงาน (ผู้มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีกำหนดคนละ 5 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 (ทุกข้อหา) และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหาตามคำฟ้องข้อ (จ) ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
ระหว่างอุทธรณ์ (ภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นขยายให้จำเลยที่ 2) จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ความผิดของจำเลยที่ 2 ย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) (ที่ถูก สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ย่อมระงับไปโดยความตายของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1))
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 กับมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 144 อีกกระทงหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 267 ประกอบมาตรา 84 อีกบทหนึ่ง (ที่ถูก สองบท) การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้จำคุก 3 ปี (ที่ถูกต้อง ยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 151 ของจำเลยที่ 4 มาด้วย) การกระทำของจำเลยที่ 1
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้เมืองพัทยามีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 มาตรา 7 มีปลัดเมืองพัทยาทำหน้าที่บริหารกิจการเมืองพัทยาตามมาตรา 48 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูบูรณะเมืองพัทยา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (สพอ.) เสนอ จำนวน 9 โครงการ โดยมีโครงการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลเป็นหนึ่งในโครงการดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปี 2535 ถึงปี 2537) และให้เมืองพัทยารับผิดชอบโครงการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะ จำนวนเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 140 ไร่ โดยมีระยะห่างจากเมืองพัทยาไม่เกิน 15 กิโลเมตร งบประมาณในการจัดซื้อจำนวน 98,000,000 บาท กับให้กรมโยธาธิการเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิควิชาการ ขณะเกิดเหตุนายวิทยา ได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดเมืองพัทยา มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการเมืองพัทยาให้เป็นไปตามกฎหมาย และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา จำเลยที่ 4 รับราชการตำแหน่งหัวหน้างานนิติการ (นิติกร 6) เมืองพัทยา และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษที่ดินดังกล่าว กับได้รับมอบอำนาจจากปลัดเมืองพัทยาให้เป็นตัวแทนเมืองพัทยาไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินดังกล่าวตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่จำนวน 140 ไร่ จากนายพีระ ส่วนจำเลยที่ 5 รับราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี (สาขา) ระดับ 7 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 นายวิทยาปลัดเมืองพัทยามีคำสั่งเมืองพัทยาที่ 540/2535 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดิน สำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา โดยมีนายบุญชัย หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยาเป็นประธานกรรมการ ให้มีหน้าที่ดำเนินการจัดหาที่ดินที่มีความเหมาะสมในการทิ้งขยะตลอดจนสอบถามราคาซื้อขาย ราคาประเมินของที่ดินและราคาซื้อขายที่ดินในบริเวณใกล้เคียงเพื่อเสนอปลัดเมืองพัทยาดำเนินการขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีพิจารณาอนุมัติให้จัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 นายพีระได้เสนอขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ดังกล่าว เนื้อที่ 150 ไร่ ราคาไร่ละ 720,000 บาท ให้แก่เมืองพัทยา และในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 นายพหลตัวแทนของนายคุณชัยกับนายมงคล ได้เสนอขายที่ดิน จำนวน 10 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 704, 904 ถึง 908, 912, 915, 916 และ 918 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี รวมเนื้อที่ 164 ไร่ 97 ตารางวา ราคาไร่ละ 950,000 บาท ให้แก่เมืองพัทยา คณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดินนัดเปิดซองพิจารณาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 เวลา 10 นาฬิกา ต่อมานายสุพงษ์ รองปลัดเมืองพัทยารักษาราชการแทนปลัดเมืองพัทยามีหนังสือฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2535 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบางละมุง ขอทราบราคาซื้อขายที่ดินในตำบลเขาไม้แก้วย้อนหลังตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2535 อย่างน้อยปีละ 1 ราย เพื่อเป็นหลักฐานในการขออนุมัติวงเงินงบประมาณจัดซื้อที่ดินจากสำนักงบประมาณ และเป็นหลักฐานประกอบการจัดซื้อ จำเลยที่ 5 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง มีหนังสือฉบับลงวันที่ 23 ธันวาคม 2535 ถึงปลัดเมืองพัทยาแจ้งราคาซื้อขายที่ดิน 3 ราย ต่อมานายวิทยาปลัดเมืองพัทยามีหนังสือฉบับลงวันที่ 11 มกราคม 2536 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอทราบราคาประเมินที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ได้ส่งราคาประเมินที่ดินไปให้ นายวิทยาปลัดเมืองพัทยามีหนังสือลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอทราบราคาซื้อขายที่ดินที่บริเวณตำบลเขาไม้แก้วในครั้งหลังสุดของปี 2535 จำนวน 3 ราย เพื่อประกอบการพิจารณาจัดซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา จำเลยที่ 5 ได้มีหนังสือแจ้งการซื้อขายที่ดินรายนายอำนวยกับนายสมใจ รายนายเพ็ชร กับนางหอม และรายนายเยิ้ม กับนายอำพลไปให้ทราบ ต่อมานายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี แจ้งว่ามีผู้เสนอขายที่ดิน 2 ราย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีอนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ และตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษกับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ นายยุวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี (ตำแหน่งในขณะนั้น) พิจารณาแล้วเห็นชอบให้เมืองพัทยาดำเนินการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษได้ แต่มีเงื่อนไข 3 ข้อ ดังนี้ ข้อ 1 เมืองพัทยาต้องยกเลิกการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการปกครองให้เปลี่ยนแปลงระยะห่างของที่ดินจากเมืองพัทยาจากระยะห่างไม่เกิน 15 กิโลเมตร เป็นระยะห่างไม่เกิน 25 กิโลเมตร ข้อ 2 เมืองพัทยาต้องยกเลิกการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ หากไม่ได้รับความเห็นชอบเรื่องราคาจากสำนักงบประมาณหรือไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการจัดซื้อ และข้อ 3 ให้เมืองพัทยาชะลอการทำสัญญาผูกพันในการจัดซื้อที่ดินกับผู้เสนอราคาไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากกรมการปกครอง สำนักงบประมาณ และได้รับแจ้งจากจังหวัดแล้ว และอนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษกับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ตามที่นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาเสนอ ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2536 นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้มีคำสั่งเมืองพัทยาที่ 157/2536 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ โดยมีนายวิทยา ปลัดเมืองพัทยาเป็นประธานกรรมการ นายสุพงษ์ รองปลัดเมืองพัทยา นางสุมนัส ผู้อำนวยการกองคลังนายสมศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายโยธา และจำเลยที่ 4 หัวหน้างานนิติการ เป็นกรรมการ ส่วนคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ประกอบด้วย นายบุญชัย หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 5 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง นายภาธร ผู้อำนวยการกองช่าง นายปรีดา ผู้อำนวยการกองอนามัยและสิ่งแวดล้อม นางดวงเดือน หัวหน้าฝ่ายบริหารงานคลัง เป็นกรรมการ ครั้นวันที่ 15 มีนาคม 2536 คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการคนหนึ่งรวมอยู่ด้วยได้ประชุมเกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดิน ที่ประชุมมีมติให้จำเลยที่ 4 ติดต่อเจ้าของที่ดินและประสานงานกับคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเพื่อไปดูที่ดินของนายพีระในวันรุ่งขึ้น และให้ทำหนังสือเชิญนายพีระซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมาทำการต่อรองราคาในวันที่ 17 มีนาคม 2536 นายวิทยาปลัดเมืองพัทยามีหนังสือฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2536 เชิญนายพีระมาต่อรองราคาในวันที่ 17 มีนาคม 2536 ต่อมาในวันดังกล่าวนายพีระมาพบคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษและได้มีการต่อรองราคากัน โดยนายพีระตกลงขายที่ดินเนื้อที่ 140 ไร่ ให้แก่เมืองพัทยาในราคาไร่ละ 668,000 บาท เป็นเงินจำนวน 93,520,000 บาท และนายพีระยอมรับเงื่อนไข 3 ข้อ ของผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีด้วยแล้วนายวิทยาปลัดเมืองพัทยามีหนังสือฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2536 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้เมืองพัทยาจัดซื้อที่ดินจากนายพีระเนื้อที่ 140 ไร่ ราคาไร่ละ 668,000 บาท เป็นเงินจำนวน 93,520,000 บาท ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีมีหนังสือลงวันที่ 26 เมษายน 2536 แจ้งให้เมืองพัทยาทราบว่ากรมการปกครองเห็นชอบให้เมืองพัทยาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะห่างของที่ดินจากเขตเมืองพัทยาจากเดิมไม่เกิน 15 กิโลเมตร เป็นไม่เกิน 25 กิโลเมตร พร้อมกับแจ้งให้เมืองพัทยาจัดส่งแผนที่สังเขปของที่ดินที่จะซื้อ ราคากลาง ราคาที่ดินซื้อขายตามท้องตลาดของที่ดินบริเวณใกล้เคียง และราคาที่ดินใกล้เคียงที่ประเมินเพื่อเสียภาษีพร้อมสำเนาโฉนดที่ดินไปให้จังหวัดชลบุรีเพื่อใช้ประกอบการขออนุมัติวงเงินและเงินประจำงวดจากสำนักงบประมาณ และผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีอนุมัติให้เมืองพัทยาจัดซื้อที่ดินจากนายพีระได้ แต่มีเงื่อนไข 2 ข้อ คือ ข้อ 1 เมืองพัทยาต้องยกเลิกการจัดซื้อที่ดินกรณีไม่ได้รับความเห็นชอบในเรื่องราคาจากสำนักงบประมาณหรือไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการจัดซื้อจากสำนักงบประมาณ และข้อ 2 ให้เมืองพัทยาชะลอการลงนามในสัญญาการจัดซื้อที่ดินกับผู้เสนอราคาไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากกรมการปกครอง สำนักงบประมาณ และได้รับแจ้งจากจังหวัดชลบุรีแล้ว ต่อมาอธิบดีกรมการปกครองมีหนังสือลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2536 ถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติวงเงินค่าจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาภายในวงเงินจำนวน 93,520,000 บาท ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีมีหนังสือลงวันที่ 10 มิถุนายน 2536 แจ้งเมืองพัทยาว่า จังหวัดชลบุรีได้รับแจ้งจากกรมการปกครองว่าสำนักงบประมาณได้อนุมัติวงเงินค่าจัดซื้อที่ดินแล้ว คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษจึงแจ้งนายพีระมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ครั้นวันที่ 11 มิถุนายน 2536 นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายพีระ ต่อมาคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ทำการตรวจรับที่ดิน นายวิทยาปลัดเมืองพัทยามีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีขอเบิกเงินจำนวน 93,520,000 บาท มาไว้ที่เมืองพัทยาเพื่อเตรียมจ่ายให้แก่ผู้ขายและนายวิทยาปลัดเมืองพัทยาทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินในนามของเมืองพัทยา และมีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ระหว่างเมืองพัทยากับนายพีระกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2536 เมืองพัทยาได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 93,520,000 บาท ชำระค่าที่ดินให้นายพีระ โดยเช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คขีดคร่อมระบุชื่อนายพีระเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่าผู้ถือ และนายวิชัยได้รับมอบเช็คดังกล่าวจากนายพีระนำไปฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพัทยา เพื่อให้เรียกเก็บเงินและโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ เลขที่ 497-0-04279-4 ของนายพีระที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง ในวันเดียวกันนั้นนายพีระได้ถอนเงินจำนวน 32,260,986 บาท จากบัญชีแล้วนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ เลขที่ 497-0-03992-3 ของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารดังกล่าวจำนวน 30,000,000 บาท 2,260,986 บาท นายวิชัยได้หักเป็นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและค่าภาษีที่นายวิชัยนำเงินของธนาคารไปทดรองจ่ายให้ก่อน ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2536 นายพีระได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายพีระจำนวน 20,000,000 บาท ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 วันที่ 22 มิถุนายน 2536 นายพีระได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายพีระจำนวน 15,000,000 บาท ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 และวันที่ 23 มิถุนายน 2536 นายพีระได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากนายพีระจำนวน 19,761,000 บาท ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารเดียวกันจำนวน 5,000,000 บาท และโอนเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากของนางสติล ภริยาจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน จำนวน 13,000,000 บาท และวันที่ 25 มิถุนายน 2536 นายพีระได้ถอนเงินทั้งหมดจากบัญชีเงินฝากของตนที่ธนาคารดังกล่าวและปิดบัญชี
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายว่า ขณะเกิดเหตุนายกเมืองพัทยาทำสัญญาว่าจ้างให้นายวิทยาเป็นผู้รับจ้างดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ทำหน้าที่บริหารกิจการของเมืองพัทยา ต่อมามีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 ใช้บังคับ และไม่มีบทบัญญัติระบุตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แม้ขณะเกิดเหตุตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 รวมทั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2523 จะบัญญัติให้ปลัดเมืองพัทยามีฐานะเป็นเจ้าพนักงานแต่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 แปลความหมายไม่ได้เลยว่าปลัดเมืองพัทยามีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ราษฎรจึงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน และไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (นายวิทยา) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 หรือมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ได้อีก เนื่องจากขาดองค์ประกอบความผิด ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 และมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 จึงคลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุนายวิทยาจะเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาโดยการว่าจ้างตามความในมาตรา 50 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 แต่ปลัดเมืองพัทยาก็มีฐานะเป็นพนักงานเมืองพัทยา ตามความในมาตรา 64 และพนักงานเมืองพัทยามีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามความในมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดคดีนี้ ดังนั้น หากขณะดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา นายวิทยาได้กระทำการใดผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และนายวิทยามิได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน นายวิทยาก็ต้องรับผิดในทางอาญาในฐานะเจ้าพนักงานตามที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 และมาตรา 147 ถึงมาตรา 166 บัญญัติไว้ แม้จะปรากฏว่าภายหลังกระทำความผิดได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยาแตกต่างจากกฎหมายเดิม แต่ความผิดที่นายวิทยาถูกกล่าวหาในคดีมิได้มีการยกเลิกไปและก็มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายใหม่บัญญัติว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดหรือกำหนดโทษเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 จะอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และ มาตรา 3 มาเป็นประโยชน์แก่คดีของจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนและเอกสารราชการตามฟ้องข้อ (ง) และ (ฉ)หรือไม่ เห็นว่า เมื่อประมาณกลางปี 2535 นายอำพลซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านท้องที่ได้มาที่บ้านนายเยิ้ม พยานโจทก์ แจ้งว่าเมืองพัทยาจะมาซื้อที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะและต้องการทราบราคาซื้อขายที่ดินของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงแต่ไม่ปรากฏว่าขณะนั้นมีการซื้อขายที่ดินกัน จำเป็นต้องสร้างหลักฐานขึ้น จึงขอความร่วมมือจากนายเยิ้มซึ่งมีที่ดินอยู่ใกล้กับที่ดินที่เมืองพัทยาจะซื้อโดยให้ทำเป็นว่า นายเยิ้มขายที่ดินให้แก่นายอำพล เมื่อเมืองพัทยาซื้อขายที่ดินเสร็จแล้ว จะโอนที่ดินคืนให้ นายเยิ้มเกรงใจนายอำพลจึงยอมตกลงด้วย ต่อมานายอำพลได้พาไปพบเสี่ยดำหรือจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ได้พานายเยิ้มกับนายอำพลไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42958 กันที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง โดยซื้อขายกันในราคา 1,400,000 บาท ทั้งๆ ที่ที่ดินบริเวณนั้นหากมีราคาซื้อขายกันจริงจะซื้อขายกันไร่ละ 100,000 บาทเศษ แล้วจำเลยที่ 2 ได้มอบค่าใช้จ่ายให้นายเยิ้มกับนายอำพลคนละ 1,000 บาท หลังจากนั้นอีกประมาณ 8 ถึง 9 เดือน นายอำพลได้มาพาไปพบจำเลยที่ 2 อีกครั้งหนึ่ง จำเลยที่ 2 ได้พานายเยิ้มกับนายอำพลไปจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้โดยทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินกันในราคา 500,000 บาท และจำเลยที่ 2 ได้มอบค่าใช้จ่ายให้นายเยิ้มกับนายอำพลอีกคนละ 2,000 บาท ดังนั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มาติดต่อให้จำเลยที่ 3 ช่วยดำเนินการปั่นราคาหรือสร้างราคาที่ดินในบริเวณนั้นให้สูงขึ้น จำเลยที่ 3 ก็ยอมตกลงดำเนินการให้ จึงมาขอความร่วมมือจากนายอำนวยและนายอำพลราษฎรในเขตปกครองของตนไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินหลอกๆ กัน ตามที่นายอำนวยและนายอำพลให้การไว้ในชั้นสอบสวน นอกจากนี้ศาลฎีกายังเห็นว่า ในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42827 และ 42958 ในครั้งแรก โดยกำหนดราคาที่ดินสูงๆ นั้น นับว่าเป็นข้อพิรุธของการจดทะเบียนซื้อขายครั้งนี้อย่างยิ่ง เพราะต่อมาหลังจากนำสัญญาขายที่ดินทั้งสองฉบับดังกล่าวไปใช้ประกอบในการที่เมืองพัทยาจัดซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 จากนายพีระแล้วไม่นาน ได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้แก่กันโดยการจดทะเบียนซื้อขายกำหนดราคาที่ดินต่ำกว่าครั้งแรกเป็นอันมาก เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นได้ว่า คู่กรณีหาได้ทำการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินกันโดยสุจริตไม่และน่าเชื่อว่า ในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินในครั้งแรกของนายอำนวยกับพวกดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมีเจตนาแอบแฝงสร้างราคาที่ดินให้สูงกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ผู้อื่นนำไปใช้อ้างอิงในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาดังที่พยานโจทก์ดังกล่าวให้การไว้ในชั้นสอบสวน ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาเมืองพัทยาก็ได้นำราคาที่ดินที่มีการจดทะเบียนซื้อขายกันหลอกๆ ในครั้งแรกนี้ไปใช้ประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับราคาที่ดินที่นายพีระเสนอขายให้แก่เมืองพัทยา โดยได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอทราบราคาที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นราคาซื้อขายครั้งหลังสุดในปี 2535 จำนวน 3 ราย เพื่อประกอบการพิจารณาจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา และสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุงโดยจำเลยที่ 5 ก็ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2536 ถึงปลัดเมืองพัทยา แจ้งราคาซื้อขายที่ดินรวม 3 โฉนด คือการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42827 ของนายสมใจ ที่ดินโฉนดเลขที่ 42956 ของนางหอม และที่ดินโฉนดเลขที่ 42958 ของนายอำพล ดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจเอกอุดมพนักงานสอบสวนว่า จากการตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 3 พยานพบสมุดปกอ่อนเล่มหนึ่งมีข้อความเขียนด้วยลายมือถึงจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 3 โทรศัพท์กลับไปหาจำเลยที่ 2 ด่วนที่สุด ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ เพียงแต่จำเลยที่ 3 เบิกความบ่ายเบี่ยงว่า จำเลยที่ 3 มิได้โทรศัพท์ติดต่อกลับไปหาจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะจำเลยที่ 3 น่าจะคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 2 เดินทางมาหาถึงบ้านเพราะมีธุระสำคัญกับจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 2 ไปหาจำเลยที่ 3 ที่บ้านเพื่อสอบถามเกี่ยวกับที่ดินที่เมืองพัทยาจะจัดซื้อสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะ เมื่อพิจารณาคำให้การในชั้นสอบสวนของนายอำนวย นายสมใจ นายอำพล และนายเยิ้ม ดังกล่าวประกอบสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและสำเนาสารบัญจดทะเบียนในโฉนดที่ดินที่โจทก์ส่งอ้างต่อศาล ตลอดจนเหตุผลและพฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยที่ 3 กับพวกได้ร่วมกันใช้หรือจ้างวานให้นายอำนวยกับนายสมใจแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ให้จดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42827 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในราคา 1,200,000 บาท และจำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันใช้หรือจ้างวานให้นายเยิ้มกับนายอำพลไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ให้จดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42958 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในราคา 1,400,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วบุคคลทั้งสี่ดังกล่าวมิได้มีเจตนาซื้อขายที่ดินกันจริง เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงดำเนินการจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวลงในเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดิน และบันทึกในสารบัญจดทะเบียนในโฉนดที่ดินดังกล่าวอันเป็นเอกสารมหาชนและเอกสารราชการ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เมืองพัทยา ผู้อื่นหรือประชาชน จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตามคำฟ้อง ข้อ (ง) และ (ฉ) ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 ตลอดจนเหตุผลต่างๆ ที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างมาในฎีกา ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในข้อนี้ได้
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยว่า นายวิทยาปลัดเมืองพัทยากับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตหรือไม่ ควบคู่กันไปด้วย โดยจะวินิจฉัยว่า นายวิทยาปลัดเมืองพัทยากับพวกและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมอยู่ในขบวนการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินอย่างไร แม้ว่านายวิทยาและจำเลยที่ 2 จะถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าว จำต้องพิจารณาด้วยว่านายวิทยาได้กระทำความผิดตามคำฟ้องข้อ (ก) หรือไม่ เสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีส่วนช่วยเหลือให้การกระทำความผิดของนายวิทยาปลัดเมืองพัทยาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีอย่างไรบ้าง ส่วนที่นายวิทยาและจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายไปแล้วนั้น คงมีผลแต่เพียงว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับนายวิทยาและจำเลยที่ 2 ได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า การกระทำของนายวิทยาและจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ดังนั้น ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ว่า นายวิทยาและจำเลยที่ 2 กระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามลำดับ โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือเข้าร่วมกระทำความผิด โดยมีการแบ่งหน้าที่กันกระทำอย่างเป็นขบวนการหรือไม่ การที่นายวิทยาถึงแก่ความตายและมิได้ถูกดำเนินคดี หาได้มีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของนายวิทยา ไม่เป็นความผิดตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาในฎีกาไม่ ดังนั้น หากคดีฟังว่านายวิทยาเป็นตัวการร่วมขบวนการกระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือ ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันสนับสนุนนายวิทยากระทำความผิดดังกล่าวได้ทันที โดยไม่ต้องรอฟังว่าจำเลยที่ 4 จะร่วมอยู่ในขบวนการกระทำความผิดกับนายวิทยาหรือไม่ สำหรับปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนายวิทยาปลัดเมืองพัทยากับพวกร่วมอยู่ในขบวนการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยถึงขั้นตอนหรือกระบวนการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาครั้งนี้ว่า มีความผิดปกติหรือมีข้อพิรุธ หรือไม่ ประการแรกเกี่ยวกับการประกาศจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาที่นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาลงนามตามประกาศเมืองพัทยา นายวิทยาได้กำหนดระยะเวลาให้ผู้ประสงค์จะขายที่ดินเสนอราคาพร้อมหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ต่อคณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดินเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ โดยประกาศฉบับแรกกำหนดระยะเวลาเพียง 16 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2535 ประกาศ ณ วันที่ 1 กันยายน 2535 แต่ไม่มีผู้ยื่นใบเสนอราคา ประกาศฉบับที่ 2 กำหนดระยะเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2535 ประกาศ ณ วันที่ 23 กันยายน 2535 แต่ไม่มีผู้ยื่นใบเสนอราคาอีก และประกาศฉบับที่ 3 กำหนดระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2535 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 ประกาศ ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2535 ทั้งๆ ที่เป็นการจัดซื้อที่ดินผืนใหญ่เนื้อที่มากถึง 140 ไร่ และวงเงินจัดซื้อสูงถึง 98,000,000 บาท ซึ่งถือได้ว่า นายวิทยามิได้กำหนดระยะเวลาให้พอเพียงต่อการให้โอกาสแก่เจ้าของที่ดินจำนวนมากรายมายื่นใบเสนอราคาแข่งขันกัน หากจะฟังว่า นายวิทยาต้องรีบดำเนินการจัดซื้อที่ดินเป็นกรณีเร่งด่วน ก็ไม่มีเหตุผลที่นายวิทยาจะต้องทิ้งช่วงในการออกประกาศเมืองพัทยาฉบับที่ 2 หลังจากพ้นกำหนดประกาศเมืองพัทยาฉบับแรกแล้วนานถึง 6 วัน และทิ้งช่วงในการออกประกาศเมืองพัทยาฉบับที่ 3 หลังจากพ้นกำหนดประกาศเมืองพัทยาฉบับที่ 2 แล้วนานถึง 14 วัน ทั้งๆ ที่การออกประกาศเมืองพัทยาฉบับใหม่เป็นเรื่องไม่มีความยุ่งยากอันจะต้องใช้เวลานานถึงเพียงนั้น นอกจากนี้ในการออกประกาศเมืองพัทยาฉบับที่ 2 นี้ ก็ปรากฏว่านายวิทยาได้รีบเปลี่ยนระยะทางห่างของที่ดินทันที ทำให้น่าสงสัยว่า จะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังโดยนายวิทยาน่าจะรู้ว่านายพีระกับพวกกำลังดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองพัทยาเกินกว่า 15 กิโลเมตร ทั้งนี้เพราะคดียังได้ความตามทางพิจารณาว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินการตามแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเมืองพัทยาสำหรับโครงการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูบูรณะเมืองพัทยาให้เมืองพัทยาจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาได้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2535 และผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 ถึงปลัดเมืองพัทยาให้ดำเนินการเรื่องนี้ แต่นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาเพิ่งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดินเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 พร้อมกับออกประกาศเมืองพัทยาฉบับแรกเพื่อจัดซื้อที่ดินในวันเดียวกันนั้น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะต้องการทอดระยะเวลาเพื่อรอให้พวกของตนมีโอกาสเตรียมจัดหาที่ดินมาเสนอขายให้แก่เมืองพัทยา ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณาจากสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 แล้ว ปรากฏว่าเพิ่งมีการแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 เนื้อที่ 150 ไร่ ออกจากที่ดินแปลงใหญ่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1110 เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2535 และบริษัทเค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด เจ้าของที่ดินเดิมเพิ่งจดทะเบียนโอนให้แก่นายพีระ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2535 อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่นายวิทยาจะออกประกาศเมืองพัทยาฉบับที่ 3 เพียง 2 วัน พฤติกรรมของนายวิทยาในการดำเนินการออกประกาศเมืองพัทยาดังกล่าว จึงชี้ให้เห็นว่า มีเจตนาแอบแฝงเพื่อจะเอื้อประโยชน์แก่นายพีระโดยแท้ เพราะในระหว่างออกประกาศเมืองพัทยาสองครั้งแรกโดยกำหนดระยะเวลาช่วงสั้นๆ นั้น นายพีระยังไม่ได้รับโอนที่ดินจากบริษัทเค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด ไม่อยู่ในฐานะที่จะยื่นใบเสนอราคาแก่คณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดินได้ จึงต้องออกประกาศกำหนดระยะเวลาสั้นๆ เพื่อไม่ให้มีผู้แข่งขันเสนอราคา ต่อเมื่อครบกำหนดประกาศเมืองพัทยาฉบับที่ 2 แล้ว แต่ยังไม่มีผู้เสนอราคา นายวิทยาก็ยังไม่ออกประกาศเมืองพัทยาฉบับที่ 3 ทันที แต่ทอดระยะเวลาออกไปเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ โดยไม่ปรากฏเหตุผลพิเศษ น่าเชื่อว่า นายวิทยาประสงค์จะรอให้นายพีระได้รับโอนที่ดินมาก่อน ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อนายพีระได้รับโอนที่ดินมาแล้ว นายวิทยาก็รีบออกประกาศเมืองพัทยาฉบับที่ 3 ทันที ข้อพิรุธของนายวิทยาประการที่ 2 เกี่ยวกับเงื่อนไขเรื่องระยะทางห่างจากเมืองพัทยาของที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาที่นายวิทยาดำเนินการจัดซื้อ โดยนายวิทยาได้ออกประกาศเมืองพัทยาฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 กำหนดเงื่อนไขระยะห่างของที่ดินจากเมืองพัทยาต้องไม่เกิน 25 กิโลเมตร ผิดไปจากมติคณะรัฐมนตรีซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าต้องไม่เกิน 15 กิโลเมตร โดยไม่ปรากฏว่าก่อนออกประกาศเมืองพัทยาดังกล่าว นายวิทยาได้เสนอเรื่องไปยังกรมการปกครองขอให้แจ้งกระทรวงมหาดไทยดำเนินการขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด การที่นายวิทยาจงใจออกประกาศเมืองพัทยาจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาโดยฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีซึ่งอาจเป็นความผิดวินัยร้ายแรงเช่นนี้ จึงส่อแสดงให้เห็นว่า นายวิทยามีเจตนาอื่นแอบแฝง ทั้งนี้เพราะระยะห่างของที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะหากตั้งอยู่ห่างออกไปมากจะมีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณของเมืองพัทยาในการจัดเก็บขยะ โดยเฉพาะค่าขนส่งแต่ละเที่ยวจะต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนซึ่งนายวิทยาควรจะคาดหมายได้ ซึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขระยะห่างของที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยานั้น โจทก์มีนายสุรชัย รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เมืองพัทยาจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา ต้องมีระยะห่างจากเมืองพัทยาไม่เกิน 15 กิโลเมตร นี้ หากจะมีการซื้อที่ดินมีระยะห่างนอกเหนือไปจากนี้ต้องให้คณะรัฐมนตรีมีมติแก้ไข ขณะที่พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนในคดีนี้ (เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2537) คณะรัฐมนตรียังไม่ได้มีมติให้แก้ไขระยะห่างดังกล่าวแต่อย่างใด จึงแสดงให้เห็นว่านายวิทยาปลัดเมืองพัทยาไม่มีอำนาจที่จะออกประกาศจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยากำหนดระยะห่างของที่ดินแตกต่างจากมติของคณะรัฐมนตรีโดยพลการได้ ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า หลังจากที่นายวิทยาได้ออกประกาศเมืองพัทยาฉบับที่ 3 แล้ว ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 นายพีระได้เสนอขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 เนื้อที่ 150 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ห่างจากเมืองพัทยาประมาณ 18.5 กิโลเมตร ให้แก่เมืองพัทยาในราคาไร่ละ 720,000 บาท และในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 นายพหล ตัวแทนของนายคุณชัย และนายมงคล ได้เสนอขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) รวม 10 แปลงเนื้อที่ 164 ไร่เศษ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลหนองปลาไหล อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ห่างจากเมืองพัทยาประมาณ 10 กิโลเมตร ให้แก่เมืองพัทยาในราคาไร่ละ 950,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีขออนุมัติจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ พร้อมทั้งขอตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ข้อ 17 (5), 27 (4) (6), 28 และ 59 ข (2) โดยนายวิทยาได้เสนอขอตั้งตัวเองเป็นประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษและแจ้งไปด้วยว่าที่ดินของผู้เสนอราคาทั้งสองรายดังกล่าวอยู่นอกเขตเมืองพัทยา จึงได้เสนอให้สภาเมืองพัทยา สภาตำบลเขาไม้แก้ว และสภาตำบลหนองปลาไหล พิจารณาตามระเบียบแล้ว ปรากฏว่าสภาเมืองพัทยาเห็นชอบ และสภาตำบลเขาไม้แก้วยินยอมให้เมืองพัทยาดำเนินการในเขตตำบลเขาไม้แก้วได้ ซึ่งแม้นายวิทยาจะมิได้ชี้เฉพาะเจาะจงไปว่า เมืองพัทยาจะซื้อที่ดินของผู้ใดแต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า นายวิทยามีเจตนาจะจัดซื้อที่ดินรายนายพีระตั้งอยู่ตำบลเขาไม้แก้ว แม้ว่าที่ตั้งของที่ดินจะอยู่ห่างจากเมืองพัทยาเกินกว่า 15 กิโลเมตร ขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรีโดยนายวิทยามิได้แจ้งไปในหนังสือดังกล่าวว่าที่ดินของนายพีระตั้งอยู่ระยะห่างจากเมืองพัทยาเกินกว่า 15 กิโลเมตร ผิดไปจากมติคณะรัฐมนตรี และนายวิทยามิได้ขอให้จังหวัดชลบุรีแจ้งกรมการปกครองเพื่อขอให้กระทรวงมหาดไทยส่งเรื่องไปให้คณะรัฐมนตรีทบทวนแก้ไขมติเดิมแต่อย่างไร ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของนายวิทยาว่าจะมิได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยสุจริต ในการดำเนินการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวจึงต้องรีบเร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินของนายพีระโดยผิดขั้นตอนทั้งยังตั้งตัวเองเป็นประธานกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษเพราะสามารถครอบงำกรรมการคนอื่นซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาได้โดยง่าย แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของนางสาวสุนิสา เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 6 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก พยานโจทก์ว่า เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2535 นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาเคยไปรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เกี่ยวกับความก้าวหน้าของการดำเนินงานของเมืองพัทยาและรายงานว่าที่ดินที่เมืองพัทยาจะจัดซื้อซึ่งกำหนดว่าระยะห่างเมืองพัทยาไม่เกิน 15 กิโลเมตร นั้น หาซื้อที่ดินไม่ได้ จึงได้ขยายระยะห่างไปไม่เกิน 25 กิโลเมตร ก็ตาม เห็นว่า เป็นการรายงานกิจการงานทั่วไปของเมืองพัทยาเท่านั้น เพราะไม่ปรากฏว่านายวิทยาได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการดังกล่าวขอให้ส่งเรื่องไปให้คณะรัฐมนตรีแก้ไขมติเดิมแต่อย่างใด แต่นายวิทยากลับดำเนินการจัดซื้อที่ดินของนายพีระต่อไป โดยไม่ใส่ใจต่อมติของคณะรัฐมนตรี และแม้จะปรากฏว่ากรมโยธาธิการซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิควิชาการของเมืองพัทยาในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 5 เมษายน 2536 ถึงอธิบดีกรมการปกครองแจ้งว่ากรมโยธาธิการได้พิจารณาถึงที่ดินที่ตำบลเขาไม้แก้วโดยส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบสภาพที่ดินแล้ว เห็นว่าที่ดินดังกล่าว (หมายถึงที่ดินของนายพีระ) มีความเหมาะสมสำหรับใช้เป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย จึงเห็นสมควรให้เปลี่ยนระยะห่างของที่ดินตามที่เมืองพัทยาเสนอได้นั้น ปรากฏว่านายสุจินต์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือฉบับดังกล่าวได้มาเป็นพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ตามหนังสือฉบับดังกล่าวกรมโยธาธิการเพียงแต่ให้ความเห็นในทางเทคนิคว่าการเพิ่มระยะห่างของที่ดินสามารถทำได้ แต่จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และนายสุจินต์ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า กรมโยธาธิการเป็นเพียงที่ปรึกษาทางเทคนิคของเมืองพัทยาเท่านั้น ส่วนเรื่องที่เมืองพัทยาไม่สามารถจัดซื้อที่ดินในระยะห่างที่ (มติคณะรัฐมนตรี) กำหนดได้นั้น กรมโยธาธิการไม่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาเพราะไม่ใช่เรื่องเทคนิค และกรมโยธาธิการไม่มีอำนาจอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงระยะห่างของที่ดินที่เมืองพัทยาจะจัดซื้อได้ ซึ่งแม้จะได้ความดังกล่าว แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาอีกว่า ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2536 นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาก็ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินจากนายพีระแม้ว่าที่ดินดังกล่าวจะอยู่ห่างจากเมืองพัทยาเกินกว่า 15 กิโลเมตร เป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีก็ตาม ดังนั้น การที่นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาออกประกาศเมืองพัทยาทั้งสองฉบับ โดยเจตนาฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีและดำเนินการต่างๆ ต่อมาจนการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวนี้เป็นผลสำเร็จนั้น ไม่อาจแปลเจตนาเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากเป็นการกระทำไปเพื่อให้สอดรับกับที่ดินของนายพีระซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองพัทยา 18.5 กิโลเมตร ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ซึ่งมูลเหตุจูงใจที่นายวิทยายอมเสี่ยงกระทำการดังกล่าว น่าจะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องดังจะได้วินิจฉัยในตอนต่อไป ข้อพิรุธของนายวิทยาประการต่อมามีว่า การที่เมืองพัทยาซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของนายวิทยาปลัดเมืองพัทยาไม่ดำเนินการจัดส่งประกาศเกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาไปยังหน่วยงานอื่น หรือจัดส่งไปให้ในระยะเวลาใกล้ครบกำหนดเวลาตามประกาศรวมทั้งไม่ส่งไปประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อให้ทราบกันทั่วไปในวงกว้าง จึงเป็นเรื่องผิดปกติของการดำเนินการจัดซื้อที่ดินของนายวิทยาอย่างมาก น่าเชื่อว่าจะเป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายพีระกับพวกในการจัดหาที่ดินที่ตำบลเขาไม้แก้วมาเสนอขายให้เมืองพัทยาโดยไม่มีผู้แข่งขันหรือมีผู้แข่งขันน้อยรายที่สุด ตามลำพังพนักงานเมืองพัทยาระดับล่างไม่น่าจะทำเรื่องบกพร่องหลายครั้งเช่นนั้นได้โดยไม่ถูกผู้บังคับบัญชาตรวจพบ นอกจากนี้ในการออกประกาศจัดหาที่ดินดังกล่าว นายวิทยาควรจะมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดิน กำหนดวันยื่นใบเสนอราคาเอง แต่นายวิทยากลับเป็นผู้ออกประกาศเสียเองซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่ เมื่อนำพฤติกรรมต่างๆ ของนายวิทยาดังกล่าวมาฟังประกอบกับข้อพิรุธอื่นๆ ของนายวิทยาดังกล่าวข้างต้นแล้ว น่าเชื่อว่านายวิทยาจะอยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ดังกล่าว สำหรับข้อพิรุธของนายวิทยาที่ต้องนำมาพิจารณาข้อสุดท้ายคือเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบราคาที่ดินของนายพีระและที่ดินบริเวณใกล้เคียง ได้ความตามทางพิจารณาว่าหลังจากนายพีระยื่นใบเสนอราคาขอเสนอขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ต่อคณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดินในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 แล้ว นายสุพงษ์รองปลัดเมืองพัทยารักษาราชการแทนปลัดเมืองพัทยาได้มีหนังสือลงวันที่ 18 ธันวาคม 2535 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบางละมุง ขอทราบราคาซื้อขายที่ดินในบริเวณตำบลเขาไม้แก้วย้อนหลังตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2535 อย่างน้อยปีละ 1 ราย เพื่อเป็นหลักฐานในการขอวงเงินงบประมาณจากสำนักงบประมาณและเป็นหลักฐานประกอบการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา จำเลยที่ 5 ได้มีหนังสือลงวันที่ 23 ธันวาคม 2535 ถึงปลัดเมืองพัทยาแจ้งว่าได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแล้ว ปรากฏผลดังนี้ ที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 109 หมู่ที่ 2 เนื้อที่ 30 ไร่ มีการซื้อขายกันในราคา 6,000,000 บาท เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2533 ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 313 เนื้อที่ 28 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา มีการซื้อขายกันในราคา 8,000,000 บาท เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2534 และที่ดินโฉนดเลขที่ 42827 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 7 ตารางวา (ของนายอำนวย) มีการซื้อขายกันในราคา 1,200,000 บาท เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2535 ซึ่งเมื่อคิดเฉลี่ยราคาต่อไร่แล้วจะปรากฏผลดังนี้ ที่ดินแปลงแรกซื้อขายกันในราคาไร่ละ 200,000 บาท ที่ดินแปลงที่ 2 ซื้อขายกันในราคาไร่ละ 276,576 บาท และที่ดินแปลงที่ 3 (ของนายอำนวย) ซื้อขายกันในราคาไร่ละ 678,924 บาท ซึ่งนายวิทยาพิจารณาแล้วคงจะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์เพราะที่ดินสองแปลงแรกมีราคาซื้อขายต่อไร่ต่ำมาก ต่อมานายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้มีหนังสือลงวันที่ 11 มกราคม 2536 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอบางละมุง ขอทราบราคาประเมินที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้ว เพื่อประกอบการพิจารณาในการซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา ปรากฏว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุงได้ส่งบัญชีราคาประเมิน (ปี 2536) มาให้ กล่าวคือ ที่ดินติดถนนสายเขาไม้แก้วห้วยไข่เน่า (นอกจากหน่วยที่ 1) ระยะ 100 เมตร มีราคาประเมินไร่ละ 200,000 บาท ที่ดินติดถนน ติดทาง ติดซอย ระยะ 100 เมตร มีราคาประเมินไร่ละ 150,000 บาท ที่ดินนอกเหนือจากนั้น มีราคาประเมินไร่ละ 100,000 บาท ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอทราบราคาซื้อขายที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วครั้งหลังสุดในปี 2535 จำนวน 3 ราย เพื่อเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาอีกซึ่งขณะนั้นนายวิทยาน่าจะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินที่นายพีระนำมาเสนอขายให้เมืองพัทยาพอสมควรแล้ว ซึ่งน่าเชื่อว่า ขณะยื่นใบเสนอราคา นายพีระได้แนบสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 กับแผนที่แสดงที่ตั้งของที่ดินที่ตนเสนอขายมาให้คณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดิน พิจารณาด้วย และน่าเชื่อว่าเอกสารประกอบใบเสนอราคานี้ คณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดินก็ได้เสนอต่อนายวิทยาเพื่อประกอบการพิจารณาเช่นเดียวกัน นายวิทยาน่าจะทราบดีว่าที่ดิน 150 ไร่ ที่นายพีระนำมาเสนอขายให้เมืองพัทยามีราคาประเมินของทางราชการเพียง 15,000,000 บาทเศษ โดยสามารถคำนวณได้จากบัญชีราคาประเมินดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเฉลี่ยได้ไร่ละ 100,000 บาทเศษ เท่านั้น เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่อยู่ลึกจากทางสาธารณะมาก ซึ่งหากนายวิทยาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ นายวิทยาก็น่าจะแจ้งตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินที่จะจัดซื้อไปให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบอย่างชัดเจนเพื่อทางสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบและนำราคาซื้อขายของที่ดินแปลงที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของนายพีระแจ้งกลับไปให้นายวิทยาทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดซื้อที่ดินของคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษด้วย แต่นายวิทยาก็หาได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยการกระทำดังกล่าวไม่ นอกจากนี้นายวิทยายังไม่กระทำการตรวจสอบราคากลางของที่ดินที่เมืองพัทยาจะจัดซื้อ จนกระทั่งกรมการปกครองต้องแจ้งให้เมืองพัทยาชี้แจงรายละเอียดของที่ดิน และขอทราบราคากลางของที่ดินซึ่งสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง เป็นผู้ประมาณการ นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาจึงได้มีหนังสือเมืองพัทยาลงวันที่ 20 เมษายน 2536 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอให้ประมาณการราคากลางของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ที่แนบไปพร้อมหนังสือดังกล่าว แต่นายวิทยาก็มิได้จัดส่งแผนที่แสดงที่ตั้งของที่ดินที่นายพีระสั่งไว้ไปด้วย จำเลยที่ 5 จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 22 เมษายน 2536 แจ้งปลัดเมืองพัทยาว่า สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ดินที่แน่ชัดลงในแผนที่ประเมินราคาที่ดินได้ จึงส่งรายละเอียดบัญชีราคาประเมินที่ดินตำบลเขาไม้แก้วมาให้พิจารณาแทน ยิ่งกว่านี้ยังปรากฏว่า ในการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2536 นั้น นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้มีคำสั่งแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานกรรมการก็มีเหตุผลน่าเชื่อว่า นายวิทยากระทำไปโดยมีวัตถุประสงค์จะชี้นำกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษคนอื่นอีก 4 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนให้มีมติจัดซื้อที่ดินของนายพีระซึ่งมีการวางแผนดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอนมาแล้วเป็นอย่างดี โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536 นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้มีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ขอทราบราคาซื้อขายที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วครั้งหลังสุดในปี 2535 จำนวน 3 ราย เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาและจำเลยที่ 5 ก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2536 แจ้งให้นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาทราบว่า มีการซื้อขายที่ดิน 3 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 42827, 42956 และ 42958 ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้นว่า การซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42827 และ 42958 เป็นการซื้อขายกันโดยคู่สัญญามิได้มีเจตนาจะซื้อขายกันจริง แต่เป็นการกระทำเพื่อปั่นราคาหรือสร้างราคาที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วให้สูงขึ้นกว่าความเป็นจริงที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2536 นายวิทยาก็ได้นำราคาที่ดินที่จำเลยที่ 5 แจ้งมาไปใช้อ้างอิงในที่ประชุมคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ เมื่อพิจารณาแล้วจะปรากฏว่า ราคาที่ดินแต่ละแปลงจะใกล้เคียงกับราคาที่ดินที่นายพีระนำมาเสนอขายให้แก่เมืองพัทยาโดยนายพีระเสนอขายไว้ในราคาไร่ละ 720,000 บาท ซึ่งน่าจะเป็นราคาที่มีการวางแผนให้เสนอขายสูงไว้เล็กน้อยเพื่อให้มีการต่อรองราคาลงตามระเบียบของทางราชการเท่านั้น ซึ่งหลังจากมีการดำเนินการต่อรองราคาที่ดินกับนายพีระ จนเหลือไร่ละ 668,000 บาทแล้ว นายวิทยาปลัดเมืองพัทยามีหนังสือลงวันที่ 26 มีนาคม 2536 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีขออนุมัติจัดซื้อที่ดินของนายพีระเนื้อที่ 140 ไร่ โดยอ้างอิงหนังสือฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2536 ของจำเลยที่ 5 ที่แจ้งราคาซื้อขายที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นข้อสนับสนุนราคาที่ดินที่เมืองพัทยาตกลงจะซื้อจากนายพีระในราคาที่มีการต่อรองกันดังกล่าว และดำเนินการของบประมาณจัดซื้อที่ดินจากสำนักงบประมาณ ทั้งๆ ที่ราคาที่ดินที่จำเลยที่ 5 แจ้งมาดังกล่าวเป็นราคาที่ถูกสร้างขึ้นมาในการทุจริต โดยเป็นการซื้อขายกันหลอกๆ และที่ดินของนายพีระดังกล่าวก็อยู่ห่างจากเมืองพัทยาเกินกว่า 15 กิโลเมตร ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายวิทยายังมิได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งในการพิจารณาอนุมัติวงเงินจัดซื้อที่ดินของเมืองพัทยานั้น หากสำนักงบประมาณทราบว่าโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีปฏิบัติผิดไปจากมติคณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณก็จะไม่อนุมัติเงินประจำงวดในการจัดซื้อให้ พฤติกรรมของนายวิทยาดังกล่าวประกอบข้อพิรุธอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้น จึงส่อแสดงให้เห็นว่า นายวิทยาน่าจะรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการทุจริตในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายร่วมมือกัน
สำหรับจำเลยที่ 3 ได้ร่วมอยู่ในขบวนการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินของเมืองพัทยาครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้นว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้ให้นายอำนวยและนายเยิ้มซึ่งมีที่ดินตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินที่นายพีระนำไปขายให้เมืองพัทยาไปจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับนายสมใจและนายอำพลตามลำดับ อันเป็นความเท็จโดยมีการสร้างราคาที่ดินดังกล่าวให้สูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งความจริงแล้วคู่สัญญาไม่มีการซื้อขายและชำระราคาที่ดินกันจริง ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงจะให้นายวิทยาปลัดเมืองพัทยานำราคาที่ดินดังกล่าวไปใช้ประกอบการที่เมืองพัทยาจัดซื้อที่ดินจากนายพีระในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงอันเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการจัดซื้อที่ดินโดยทุจริต ถือว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการกระทำความผิดของนายวิทยาปลัดเมืองพัทยาจนเป็นผลสำเร็จด้วย นอกจากนั้น ระหว่างที่นายวิทยาปลัดเมืองพัทยากำลังดำเนินการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาอยู่นั้น จำเลยที่ 3 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกำนันตำบลเขาไม้แก้วได้ไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดินว่า ที่ดินถ้าไม่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 แต่ติดทางสาธารณะลึกเข้าไป 1 กิโลเมตร ถึง 3 กิโลเมตร มีราคาซื้อขายประมาณไร่ละ 1,000,000 บาท ถ้าที่ดินติดทางสาธารณะลึกเข้าไป 4 กิโลเมตร ถึง 5 กิโลเมตร ราคาซื้อขายประมาณไร่ละ 500,000 บาท ถึง 800,000 บาท ซึ่งถ้อยคำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเป็นความจริง เพราะขัดแย้งกับราคาที่ซื้อขายที่ดินในบริเวณตำบลเขาไม้แก้วซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของนายพีระ และที่ดินของนายพีระดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ทั้งจำเลยที่ 3 ก็เป็นผู้ปกครองท้องที่ควรจะทราบดีว่าที่ดินแปลงนี้อาจมีปัญหาว่าอยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพราะราษฎรบริเวณนั้นต่างก็ทราบดี หากจำเลยที่ 3 ให้ถ้อยคำโดยสุจริตมิได้เจตนาอื่นแอบแฝง จำเลยที่ 3 ก็ควรจะให้ข้อมูลนี้แก่คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษด้วย แต่จำเลยที่ 3 ก็หาได้มีกระทำไม่ นอกจากนี้ จำเลยที่ 3 ยังได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดินเกี่ยวกับสภาพที่ดินในตำบลเขาไม้แก้วอีกว่า ส่วนใหญ่จะมีสภาพเป็นป่าละเมาะและเป็นที่ดอน มีประชาชนอยู่น้อย และใกล้ป่าสงวน (แห่งชาติ) ไม่มีอ่างเก็บน้ำและไม่มีต้นน้ำลำธาร ซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นความจริงเช่นเดียวกัน เพราะขัดแย้งกับคำเบิกความของนายอำนวยพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 42827 ในตำบลเขาไม้แก้วโดยนายอำนวยได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยืนยันว่า ที่ดินในตำบลเขาไม้แก้วส่วนใหญ่มีสภาพโล่งเตียนไม่อยู่ในสภาพป่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ปลูกมันสำปะหลังและเลี้ยงสัตว์ และขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาว่า ขณะเกิดเหตุที่ดินในบริเวณตำบลเขาไม้แก้วผืนใหญ่เนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ มีปัญหาว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบางละมุง หรือไม่ โดยมีราษฎรจำนวนมากบุกรุกเข้าไปทำไร่ และเจ้าพนักงานป่าไม้ได้ออกใบ สทก.2 ให้ราษฎรเหล่านั้นทำกินทับซ้อนกับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1106 และเลขที่ 1110 ของบริษัทนิวัชแลนด์ จำกัด และบริษัทเค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด ตามลำดับ ซึ่งออกโดยเจ้าพนักงานงานที่ดินอำเภอบางละมุง ทั้งยังขัดแย้งกับรายงานการศึกษาลักษณะดินในพื้นที่คัดเลือกเพื่อเป็นแหล่งฝังกลบขยะของเมืองพัทยาของกองวิศวกรรมสุขาภิบาล ซึ่งระบุว่าที่ดินแปลงที่เมืองพัทยาจะจัดซื้อที่ตำบลเขาไม้แก้ว นั้น มีลักษณะเป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่มีห้วยไข่เน่า ห่างจากขอบพื้นที่ทางใต้ประมาณ 700 เมตร ถึง 1,000 เมตร น้ำในห้วยไข่เน่าไหลไปบรรจบกับคลองบางหวายหรือห้วยภูไทรซึ่งอยู่ห่างพื้นที่ประมาณ 2 กิโลเมตร และน้ำจากห้วยภูไทรไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยดอกรายซึ่งอยู่ห่างพื้นที่ประมาณ 15 ถึง 20 กิโลเมตร จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปกครองท้องที่โดยเป็นกำนันตำบลเขาไม้แก้ว ควรจะรู้ดีถึงสภาพทั่วไปของที่ดินในเขตปกครองของตนเป็นอย่างดี แต่กลับให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดินของเมืองพัทยา จึงส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 ประสงค์จะจูงใจคณะกรรมการเพื่อจัดหาที่ดินให้เห็นว่าที่ดินในตำบลเขาไม้แก้วแปลงของนายพีระมีความเหมาะสมที่เมืองพัทยาจะจัดซื้อไว้สำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะยิ่งกว่าที่ดินในตำบลอื่นๆ ซึ่งอาจอยู่ใกล้เมืองพัทยามากกว่าที่ดินของนายพีระอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายพีระกับพวกในการนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 มาเสนอขายให้เมืองพัทยา พฤติกรรมของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้จึงชี้ให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ร่วมอยู่ในขบวนการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาในครั้งนี้ด้วย โดยมีการจัดสรรแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นขั้นตอน และจำเลยที่ 3 ได้รับหน้าที่กระทำในส่วนดังกล่าว
ส่วนจำเลยที่ 1 จะเป็นตัวการคนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในขบวนการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาในครั้งนี้ด้วยหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายพีระกับจำเลยที่ 1 และฐานะของนายพีระเสียก่อนว่านายพีระเป็นเพียงลูกจ้างเป็นคนทำสวนของจำเลยที่ 1 และไม่ใช่บุคคลที่มีฐานะดีพอที่จะซื้อที่ดินดังกล่าวได้จริงหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนายพีระมีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างคนทำสวนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น และไม่ใช่บุคคลที่มีฐานะทางการเงินดีพอที่จะซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 จากบริษัทเค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด ในราคาสูงถึง 7,500,000 บาท เพื่อนำที่ดินมาเสนอขายให้แก่เมืองพัทยาได้ ดังจะเห็นได้ว่า แม้แต่เงินค่าธรรมเนียมในการโอนและค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่เมืองพัทยานั้น นายพีระยังต้องให้นายวิชัยผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง นำเงินของธนาคารไปทดรองจ่ายให้ก่อน และยังได้ความจากคำเบิกความของนางสวนีย์ซึ่งเป็นนายหน้าซื้อขายที่ดินของบริษัทเค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด พยานโจทก์อีกว่า ในการขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ของบริษัทเค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด ให้แก่นายพีระนั้น จำเลยที่ 2 เป็นคนมาติดต่อและเป็นคนจ่ายค่าที่ดินแก่พยานเพื่อนำไปมอบให้แก่บริษัทเค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินกัน ซึ่งสอดคล้องตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของนางสมใจประธานกรรมการบริษัทเค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด ทั้งยังปรากฏว่าหลังเกิดเหตุนายพีระได้หลบหนีไปจากภูมิลำเนาโดยไม่ยอมมอบตัวต่อสู้คดีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ หากนายพีระมิได้กระทำการใดที่มิชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีเหตุที่นายพีระจะต้องหลบหนีไปจากภูมิลำเนาที่ตนประกอบอาชีพเช่นนั้น ตามพฤติการณ์จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า การซื้อขายที่ดินระหว่างบริษัทเค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด กับนายพีระจะต้องมีผู้อยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน และนายพีระถูกบุคคลอื่นเชิดให้ออกหน้าเป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงนี้เพื่อนำมาขายต่อให้เมืองพัทยาอีกทอดหนึ่งซึ่งนายวิทยาปลัดเมืองพัทยาได้ดำเนินการให้เมืองพัทยารับซื้อที่ดินจากนายพีระโดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่และโดยทุจริตดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่า นายพีระไม่ใช่คนทำสวนของจำเลยที่ 1 แต่นายพีระมีธุรกิจเป็นผู้รับเหมาจัดสวนที่จำเลยที่ 1 จ้างมาจัดสวนที่บ้านของจำเลยที่ 1 เป็นครั้งคราวนั้น ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ในข้อนี้ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังโดยเป็นคนเชิดนายพีระคนทำสวนของตนให้ออกหน้าเป็นผู้ซื้อขายที่ดินแปลงนี้หรือไม่นั้น โจทก์มีนายปัญญา เจ้าหน้าที่ป้องกันดับเพลิงประจำเมืองพัทยาเป็นพยานเบิกความว่า ประมาณเดือนกันยายน 2535 เมืองพัทยาได้ปิดประกาศ ไว้ที่บอร์ดศาลาว่าการเมืองพัทยาว่าเมืองพัทยาประสงค์จะซื้อที่ดินเนื้อที่ 140 ไร่ ห่างจากเขตเมืองพัทยาไม่เกิน 15 กิโลเมตร เพื่อใช้สำหรับเป็นที่ทิ้งขยะโดยให้ยื่นหลักฐานระหว่างวันที่ 1 ถึง 15 กันยายน 2535 พยานจึงไปแจ้งให้นายวีระซึ่งเป็นเพื่อนกันทราบ เพื่อจัดหาที่ดินมาเสนอขายให้แก่เมืองพัทยา ต่อมาพยานทราบจากนายวีระว่าสามารถรวมรวบที่ดินได้แล้วเนื้อที่ 150 ไร่ ซึ่งพยานได้ดูหลักฐานที่นายวีระนำมาให้ดูแล้วปรากฏว่าเป็นที่ดินอยู่ตำบลเขาไม้แก้วบางส่วนและอยู่ตำบลโป่งบางส่วน นายวีระบอกว่าจะขายในราคาไร่ละ 300,000 บาท ถึง 350,000 บาท โดยที่ดินดังกล่าวอยู่ห่างจากเมืองพัทยาประมาณ 15 กิโลเมตร พยานได้ปรึกษานายวัฒนา รองนายกสภาเมืองพัทยา แล้ว ก็ทราบว่ามีผู้ขายรายอื่นยื่นขายที่ดินต่อเมืองพัทยาเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ยื่นขายคือกำนัน พยานจึงไม่ได้นำหลักฐานเอกสารสิทธิที่ดินที่นายวีระรวบรวมมาเสนอต่อเมืองพัทยาและคืนให้แก่นายวีระไป โจทก์ยังมีนางเคี้ยน เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ประมาณเดือนสิงหาคม 2535 นายวีระ ญาติของพยานได้ขอให้พยานหาที่ดินในตำบลเขาไม้แก้ว เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มาให้ครบภายใน 7 วัน เพื่อนำไปเสนอขายให้แก่เมืองพัทยาสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะ พยานจึงไปติดต่อกับบุตรหลานซึ่งมีที่ดินอยู่บริเวณดังกล่าวและรวบรวมที่ดินบริเวณตำบลเขาไม้แก้วได้มาเนื้อที่ประมาณ 160 ไร่ ที่ดินดังกล่าวมีหลักฐานทางทะเบียนเป็น น.ส. 3 อยู่ห่างจากเมืองพัทยาประมาณ 11 กิโลเมตร และตกลงจะขายในราคาไร่ละ 300,000 บาท นายวีระได้บอกพยานว่าจะนำหลักฐานทางทะเบียนดังกล่าวไปยื่นขายให้แก่เมืองพัทยา แต่วันเดียวกันนั้นในเวลาตอนเย็นนายวีระกลับมาบอกพยานว่าไม่ต้องยื่นประมูลแล้ว เนื่องจากมีรายอื่นไปยื่นแล้ว และมีราคาต่ำกว่าที่พยานตกลงจะขายผู้ที่ยื่นประมูลตามที่นายวีระบอกคือกำนัน ซึ่งต่อมาพยานทราบว่ากำนันคนดังกล่าวคือกำนันเป๊าะจำเลยที่ 1 คดีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายปัญญาดังกล่าวข้างต้น โจทก์ยังมีนายชลอ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลโป่ง เป็นพยานเบิกความสนับสนุนอีกว่า พยานมีที่ดิน น.ส. 3 ก. เนื้อที่ 18 ไร่ อยู่ที่ตำบลเขาไม้แก้ว เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2535 นางเคี้ยนเคยไปติดต่อขอซื้อจากพยาน พยานตกลงขายในราคาไร่ละ 300,000 บาท นอกจากนี้ยังมีเจ้าของที่ดินบริเวณใกล้เคียงตกลงขายที่ดินให้นางเคี้ยนเช่นเดียวกัน มีนางผวน นางสมควร นางพิน (ที่ถูกน่าจะเป็นนางพิมพ์) และนายธงชัยโดยตกลงขายในราคาเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีนางบุญชูกับนางสมใจตกลงขายที่ดินให้นางเคี้ยนด้วย ต่อมานางเคี้ยนเอาสำเนาเอกสารที่ดินมาคืนให้พยานโดยบอกว่าขายไม่ได้แล้วและโจทก์มีนางพิมพ์ เป็นพยานเบิกความรับรองว่า พยานมีที่ดินอยู่ตำบลเขาไม้แก้วประมาณ 100 ไร่เศษ เดิมมีหลักฐานเป็น น.ส. 3 เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2535 นางเคี้ยนได้มาติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายต่อให้เมืองพัทยาสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะ พยานตกลงขายให้เนื้อที่ 70 ไร่ ในราคาไร่ละ 300,000 บาท แสดงให้เห็นว่า ในขณะนั้นน่าจะมีข่าววงในเป็นที่ทราบกันแล้วว่าจำเลยที่ 1 มีความประสงค์จะเสนอขายที่ดินให้แก่เมืองพัทยาเอง ซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้นายปัญญาตัดสินใจไม่กล้ายื่นเสนอขายที่ดินที่นางเคี้ยนรวบรวมมาได้แข่งขันกับจำเลยที่ 1 ยิ่งกว่าเหตุอื่นตามที่นายปัญญาเบิกความอ้างถึง โจทก์ยังมีนายวิชัยผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณปลายปี 2535 พยานไปหาลูกค้าเงินฝากที่เมืองพัทยา และทราบจากนายวิทยาปลัดเมืองพัทยาว่าเมืองพัทยาตกลงซื้อที่ดินจากนายพีระเนื้อที่ 140 ไร่ ต่อมานายวิทยาได้แนะนำให้พยานรู้จักกับนายพีระ นายพีระแจ้งว่าเงินค่าขายที่ดินต้องนำไปให้จำเลยที่ 1 ให้พยานไปคุยกับจำเลยที่ 1 เอาเอง ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2536 พยานไปพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยอมตกลงจะฝากเงินไว้เป็นการชั่วคราวแล้วจะโอนไปยังธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน นอกจากนี้ในเดือนเมษายน 2536 พยานทราบจากนายวิทยาปลัดเมืองพัทยาว่าเมืองพัทยาจะซื้อที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ตำบลเขาไม้แก้วสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะ และนายวิทยายังแนะนำพยานอีกว่าหากต้องการได้เงินที่เมืองพัทยาจ่ายเป็นค่าที่ดินไปฝากที่ธนาคารที่พยานทำงานก็ให้ไปขอกับจำเลยที่ 1 เองพยานจึงไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้นายวิชัยรู้จักคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2526 และจำเลยที่ 1 เคยเป็นเจ้าภาพในงานแต่งงานของนายวิชัยอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า นายวิชัยมีความคุ้นเคยและมีความเคารพนับถือยำเกรงจำเลยที่ 1 มาก จึงไม่มีเหตุให้สงสัยว่านายวิชัยจะให้การเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 โดยปราศจากมูลความจริง ดังนั้น สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝากเงินและถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายพีระและจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉางนั้น คงรับฟังได้ว่า ในวันที่นายพีระจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ให้แก่เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2536 นั้น เมืองพัทยาได้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพัทยา จำนวนเงิน 93,520,000 บาท มอบให้นายพีระเป็นการชำระราคาที่ดินที่ซื้อขาย แล้วนายวิชัยผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง พยานโจทก์ได้นำเช็คไปฝากเรียกเก็บเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพัทยา แล้วโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายพีระที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง ซึ่งนายพีระเปิดเตรียมไว้ก่อน แล้วนายพีระกับนายวิชัยได้เดินทางไปยังธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง นายวิชัยนำแบบพิมพ์ใบถอนเงินให้นายพีระลงลายมือชื่อไว้หลายแผ่น และในวันเดียวกันนั้นนายพีระได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตนจำนวน 32,260,986 บาท แล้วนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่เปิดรอไว้ก่อนที่ธนาคารเดียวกันเป็นเงินจำนวน 30,000,000 บาท ส่วนอีกจำนวน 2,260,986 บาท นายวิชัยได้หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนที่ดินที่ธนาคารได้ทดรองจ่ายให้นายพีระครั้นวันที่ 21 มิถุนายน 2536 มีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายพีระจำนวน 20,000,000 บาท แล้วนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารเดียวกัน ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2536 มีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายพีระจำนวน 15,000,000 บาท แล้วนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารเดียวกัน วันที่ 23 มิถุนายน 2536 มีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายพีระจำนวน 19,761,000 บาท แล้วนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 จำนวน 5,000,000 บาท และโอนไปเข้าบัญชีเงินฝากของนางสติล ภริยาจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน จำนวน 13,000,000 บาท ส่วนเงินอีกจำนวน 1,760,000 บาท เบิกถอนเป็นเงินสดและไม่ปรากฏที่ไปของเงินและวันที่ 25 มิถุนายน 2536 มีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายพีระก้อนสุดท้ายเป็นเงินสดจำนวน 6,535,042.74 บาท จนหมดบัญชีและนายพีระได้ขอปิดบัญชี ข้อมูลดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นว่า เงินที่นายพีระได้จากการขายที่ดินให้แก่เมืองพัทยาได้ถูกถ่ายโอนจากบัญชีเงินฝากของนายพีระไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เกือบทั้งหมดและมีการถ่ายโอนเงินบางส่วนไปเข้าบัญชีเงินฝากของนางสติลภริยาจำเลยที่ 1 คงไม่ปรากฏที่ไปของเงินอีกจำนวนเพียง 8,000,000 บาทเศษ เท่านั้น นอกจากนี้คดียังได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบและฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่าหลังจากมีการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนายพีระไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แล้วเมื่อระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้โอนเงินมาเข้าบัญชีเงินฝากของนางสติลภริยาจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน รวม 3 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวนมากถึง 70,000,000 บาท เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่นายพีระโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางสติลภริยาจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงมีเงินค่าที่ดินโอนเข้าบัญชีเงินฝากของนางสติลภริยาจำเลยที่ 1 รวมจำนวน 83,000,000 บาท ซึ่งต่อมาปรากฏว่าเมื่อระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 เงินในบัญชีเงินฝากของนางสติลภริยาจำเลยที่ 1 ก็ได้ถ่ายโอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน จำนวน 20,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 นางสาวศิริลักษณ์ และนางสาวศิริมาศ ที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สาขาหนองมนรวม 3 บัญชี รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท และเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน จำนวน 10,000,000 บาท หากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ที่นายพีระขายให้แก่เมืองพัทยาเป็นของนายพีระ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องมีการถ่ายโอนเงินค่าขายที่ดินจากบัญชีเงินฝากของนายพีระไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 กับนางสติลภริยาจำเลยที่ 1 เกือบทั้งหมด แล้วมีการถ่ายโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนางสติลภริยาจำเลยที่ 1 มาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ใหม่เช่นนั้น ที่จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่านายวิชัยรู้จักคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 จึงมาขอร้องให้จำเลยที่ 1 ช่วยพูดกับนายพีระให้นำเงินค่าที่ดินไปฝากไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉางที่นายวิชัยเป็นผู้จัดการสาขาเพื่อแจ้งผลงานนั้น ก็ฟังดูไม่สมเหตุผล เพราะบัญชีของนายพีระและจำเลยที่ 1 ที่เปิดไว้เป็นเพียงบัญชีเงินฝากประเภทสะสมทรัพย์ และจำเลยที่ 1 กับนายพีระก็ฝากเงินไว้ในบัญชีเพียงไม่กี่วัน ก็มีการถ่ายโอนมาเข้าบัญชีของนางสติลภริยาจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหนองมน เกือบหมด ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาอีกว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2536 นายพีระได้นำเช็คผู้ถือจำนวนเงิน 500,000 บาท ที่มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คอีกด้วย ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวให้แก่นายพีระเป็นค่าตอบแทนที่นายพีระให้ความร่วมมือยอมเป็นหุ่นเชิดของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินการซื้อแล้วนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ไปขายให้แก่เมืองพัทยา เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับข้อเท็จจริงที่นายวิทยาปลัดเมืองพัทยานำเช็คผู้ถือที่จำเลยที่ 1 กับนางสติลภริยาจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจำนวน 2,000,000 บาท และ 3,000,000 บาท ตามลำดับ รวมจำนวนเงิน 5,000,000 บาท ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าเป็นค่าตอบแทนที่นายวิทยาได้รับจากจำเลยที่ 1 เพื่อการทุจริตในการจัดซื้อที่ดินแปลงนี้ จึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้อยู่เบื้องต้นหรือตัวการในการเชิดให้นายพีระคนทำสวนของตนไปจัดซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ในราคา 7,500,000 บาท จากบริษัทเค.ไอ.ที.ไอ.คอปโปเรชั่น จำกัด แล้วนำมาเสนอขายให้แก่เมืองพัทยาในราคา 108,000,000 บาท เพราะเป็นไปไม่ได้ที่นายพีระซึ่งเป็นเพียงลูกจ้างเป็นคนทำสวนของจำเลยที่ 1 จะสามารถทำเรื่องใหญ่ที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเช่นนี้ได้ตามลำพัง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าหากนายพีระเป็นเพียงคนทำสวน คงไม่มีใครใช้คนไม่มีความรู้ไปทำเรื่องซื้อขายที่ดินราคากว่า 93,000,000 บาท นั้น เห็นว่า ไม่ใช่เหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะยกเป็นข้ออ้างเพื่อหักล้างพยานโจทก์ได้เพราะได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนสนิทของจำเลยที่ 1 และเป็นนายหน้าค้าที่ดินได้ช่วยเดินเรื่องให้นายพีระ ส่วนเรื่องเงินค่าขายที่ดินจำนวนกว่า 93,000,000 บาท ก็มีนายวิชัยนายธนาคารซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 เป็นคนคอยดูแลนำฝากและโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 กับภริยาจำเลยที่ 1 เสมือนหนึ่งจำเลยที่ 1 เป็นนายทุนเจ้าของที่ดินแปลงนี้ อันเป็นพฤติการณ์ที่สนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้เชิดให้นายพีระคนทำสวนของตนเป็นตัวแทนในการซื้อขายที่ดินแปลงนี้ นายพีระจึงต้องโอนเงินค่าที่ดินคืนให้จำเลยที่ 1 เมื่อนำมารับฟังประกอบเข้าด้วยกันแล้วก็มีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการคนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในขบวนการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาในครั้งนี้ด้วยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และเหตุผลต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างมาในฎีกา ไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ โจทก์หาได้สืบไม่สมฟ้องดังที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับนายวิทยาและพวกที่หลบหนีได้ร่วมอยู่ในขบวนการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะครั้งนี้ด้วยกัน โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำตามขั้นตอนที่แต่ละคนได้รับมอบหมายไปกระทำดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้นจนความผิดสำเร็จ นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และเมื่อการกระทำของนายวิทยาเป็นความผิดตามมาตรา 151 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อที่ดินของเมืองพัทยาด้วย จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 151 แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดดังกล่าวของนายวิทยา จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบด้วยมาตรา 86 อันเป็นความผิดบทเฉพาะและไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ประกอบด้วยมาตรา 86 เป็นบททั่วไปเช่นเดียวกัน เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องยกข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างมาในฎีกาขึ้นมาวินิจฉัยต่อไป เพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใด ก็ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษานี้เปลี่ยนแปลงไปได้
นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงเหตุแห่งการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยา เป็นการเสียหายแก่รัฐของนายวิทยากับจำเลยที่ 4 และที่ 5 มารวม 2 ประการ ประการแรก นายวิทยากับจำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ของนายพีระตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และประการที่ 2 นายวิทยากับจำเลยที่ 4 และที่ 5 รู้อยู่แล้วว่านายพีระซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาในราคาไร่ละ 50,000 บาท แต่นายวิทยากับพวกดังกล่าวร่วมกันดำเนินการให้เมืองพัทยารับซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายพีระในราคาไร่ละ 668,000 บาท ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริงมาก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายวิทยากับพวกร่วมกันดำเนินการจัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายพีระในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงมาก ในเหตุประการที่ 2 อันเป็นการเพียงพอที่จะรับฟังว่า นายวิทยากับพวกได้กระทำความผิดตามคำฟ้องแล้ว เช่นนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบางละมุง หรือไม่ ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นฎีกาอีก เพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใด ก็ไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษานี้เปลี่ยนแปลงไปได้
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปอีกว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามคำฟ้องข้อ (ค) ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 นั้น มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมก่อให้นายวิทยาปลัดเมืองพัทยากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อยู่ในตัว แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า ในช่วงวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้สินบนหรือเป็นผู้ยุยงส่งเสริมก่อให้นายวิทยาปลัดเมืองพัทยากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ได้เป็นตัวการร่วมกับนายวิทยากับพวกกระทำการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาอย่างเป็นขบวนการโดยมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันกระทำมาแต่ต้นจนกระทั่งความผิดสำเร็จ เพียงแต่จำเลยที่ 1 ขาดคุณสมบัติการเป็นเจ้าพนักงาน จึงรับโทษแค่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของนายวิทยากับพวกดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานหรือไม่ก็ตาม ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ย่อมเกลื่อนกลืนเป็นการกระทำความผิดในกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตแล้ว ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตได้แต่เพียงบทเดียวเท่านั้น กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานอันเป็นบทเฉพาะเจาะจงแล้ว จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ดังที่จำเลยที่ 1 อ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายมาในฎีกา เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้อีกต่อไป เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในส่วนนี้ได้ และเมื่อศาลฎีกาไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามคำฟ้องข้อ (ค) ได้ จึงมีผลทำให้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อกฎหมายข้อที่ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามฟ้องข้อ (ค) และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน (มีหน้าที่ซื้อทรัพย์) ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามคำฟ้องข้อ (ข) เป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ เป็นอันตกไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องข้อ (ข) (ง) และ (ฉ) เป็นความผิดสามกรรมต่างกัน ดังที่ศาลชั้นวินิจฉัยหรือเป็นความผิดกรรมเดียวกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย และมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตามคำฟ้องข้อ (ง) และ (ฉ) แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดตามคำฟ้องข้อ (ข) หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวคงได้ความตามทางพิจารณาว่า ที่จำเลยที่ 3 กับพวกเป็นผู้ใช้จ้างวานให้นายอำนวยกับนายสมใจไปแจ้งแก่นายไพรัตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง จดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42827 ในราคา 1,200,000 บาท อันเป็นความเท็จ และที่จำเลยที่ 3 กับพวกเป็นผู้ใช้จ้างวานให้นายเยิ้มกับนายอำพลไปแจ้งแก่นายไพรัตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง จดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42958 ในราคา 1,400,000 บาท อันเป็นความเท็จ นั้น จำเลยที่ 3 กับพวกกระทำไปก็โดยมีเจตนาหรือวัตถุประสงค์ที่จะสร้างราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ของนายพีระให้สูงขึ้นกว่าความเป็นจริงเพื่อให้นายวิทยาปลัดเมืองพัทยากับพวกนำหลักฐานการซื้อขายที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานแสดงประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษของเมืองพัทยาในการจัดซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1218 ของนายพีระ การกระทำของจำเลยที่ 3 กับพวกดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของแผนการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อที่ดินสำหรับใช้เป็นที่ทิ้งขยะของเมืองพัทยาที่นายวิทยาปลัดเมืองพัทยาและจำเลยที่ 3 กับพวกได้ร่วมมือกันกระทำอย่างเป็นขบวนการโดยมีการแบ่งหน้าที่กันกระทำจนความผิดสำเร็จ อันเป็นความผิดตามคำฟ้องข้อ (ข) แม้วันเวลากระทำความผิด ลักษณะของความผิดและผู้เสียหายจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นกรณีการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน ความผิดของจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องข้อ (ข) (ง) และ (ฉ) จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย หาใช่เป็นเรื่องกระทำโดยอาศัยเจตนาที่แตกต่างอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังที่โจทก์ฎีกาไม่
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องข้อ (ง) และ (ฉ) เป็นการกระทำเดียวกับคำฟ้องข้อ (ข) เมื่อจำเลยที่ 3 มีความผิดตามคำฟ้อง ข้อ (ง) และ (ฉ) แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดตามคำฟ้องข้อ (ข) อีก เพราะโจทก์นำเอาข้อเท็จจริงเพียงเหตุการณ์เดียวมาแยกฟ้องจำเลยที่ 3 เป็น 2 ฐานความผิด นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องข้อ (ข) (ง) และข้อ (ฉ) เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายต่างคนกันและเป็นเหตุการณ์คนละตอนกัน แม้จะอยู่ในแผนการทุจริตคอร์รัปชันเดียวกัน ก็มีการกระทำหลายอย่างและแต่ละอย่างเป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบททั้งฐานใช้ให้ผู้อื่นแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ตามคำฟ้องข้อ (ง) (ฉ) และ (ข)
สรุปแล้ว ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพียงบางส่วน และไม่เห็นพ้องด้วยในบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วนและฟังไม่ขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น
อนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตายในระหว่างอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 จากสารบบความ ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 เพียงบทเดียว กำหนดโทษให้คงเดิม ส่วนจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 บทหนึ่ง และมาตรา 267 ประกอบมาตรา 84 อีกสองบท การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามมาตรา 90 กำหนดโทษให้คงเดิม สำหรับข้อหาอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 3 นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 กับให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
??

??

??

??

22

Share