แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก่อนวันเกิดเหตุทะเลาะกันแล้วจำเลยหนีออกจากบ้าน ครั้นวันเกิดเหตุจำเลยไปพบผู้เสียหายที่บ้านและขอคืนดีผู้เสียหายขอค่าทำขวัญ แต่ตกลงจำนวนเงินกันไม่ได้ จำเลยโกรธทำร้ายผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำ 2 เส้น แหวนทองคำ 3 วง กับตุ้มหูทองคำ 1 คู่ ต่อมาจำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดคืนผู้เสียหาย และกลับมาอยู่กินด้วยกัน จำเลยเอาทรัพย์ดังกล่าวไป เนื่องจากจำเลยไม่ต้องการให้ผู้เสียหายนำไปขายเล่นการพนัน การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้อื่น เป็นการใช้อำนาจของการเป็นสามีปกป้องทรัพย์สินของครอบครัวด้วยความโกรธโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำได้ และการที่จำเลยได้นำทรัพย์ทั้งหมดคืนแก่ผู้เสียหายก็แสดงว่าไม่มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือผู้อื่น จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์คงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักเอาสร้อยคอทองคำ หนัก 1 สลึง 2 เส้นราคา 3,400 บาท แหวนทองคำ หนัก 1 สลึง 1 วง แหวนทองคำหนักครึ่งสลึง 2 วง ราคา 3,400 บาท ตุ้มหูทองคำ 1 คู่ ราคา 900 บาทรวมเป็นเงิน 7,700 บาท ของนางละอองดาว คำตลบ ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการใช้มีดพร้าใบมีดยาว 12 นิ้วฟุต ด้ามมีดยาว 5 นิ้วฟุต จำนวน 1 เล่ม เป็นอาวุธฟันทำร้ายผู้เสียหายถูกที่บริเวณร่างกายหลายครั้ง และชกต่อย เตะถูกที่บริเวณร่างกายผู้เสียหายหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป และให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, วรรคสาม ประกอบมาตรา 335(7), 295
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, วรรคสาม, 295 อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย จำคุก 10 ปี ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก่อนวันเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยทะเลาะโต้เถียงกันแล้วจำเลยหนีออกจากบ้าน ครั้นวันเกิดเหตุจำเลยไปพบผู้เสียหายที่บ้านที่เกิดเหตุและขอคืนดีกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายขอค่าทำขวัญเป็นเงิน แต่ตกลงจำนวนเงินกันไม่ได้ จำเลยโกรธทำร้ายผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำ2 เส้น แหวนทองคำ 3 วง กับตุ้มหูทองคำ 1 คู่ ไปจากผู้เสียหายแล้วหลบหนีไป ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายจากการที่ถูกจำเลยทำร้ายตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.3 ต่อมาหลังเกิดเหตุจำเลยนำสร้อยทองคำ แหวนทองคำ และตุ้มหูทองคำดังกล่าวทั้งหมดคืนให้แก่ผู้เสียหายโดยจำเลยกับผู้เสียหายกลับมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาจนถึงปัจจุบัน มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ในข้อนี้ผู้เสียหายและนางบาง ผาใต้ ป้าผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยตรงกันว่า เหตุที่จำเลยกับผู้เสียหายทะเลาะกัน เนื่องจากผู้เสียหายชอบเล่นการพนันจำเลยห้ามปราม แต่ผู้เสียหายไม่เชื่อผู้เสียหายจะนำสร้อยคอทองคำแหวนทองคำ และตุ้มหูทองคำไปขายเพื่อเล่นการพนัน จำเลยเอาทรัพย์ดังกล่าวไปจากผู้เสียหายก็เนื่องจากจำเลยไม่ต้องการให้ผู้เสียหายนำไปขายเล่นการพนัน ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อนำสืบของจำเลยข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าเจตนาของจำเลยที่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปก็เพื่อจะรักษาทรัพย์นั้นไว้ การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้อื่น แสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจของการเป็นสามีปกป้องทรัพย์สินของครอบครัวด้วยความโกรธโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำได้ และการที่จำเลยได้นำทรัพย์ทั้งหมดคืนแก่ผู้เสียหายในเวลาต่อมาก็แสดงว่าจำเลยหาได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือผู้อื่น มิฉะนั้นคงไม่อาจนำทรัพย์ทุกชิ้นของผู้เสียหายไปโดยไม่มีเจตนาทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยคงมีความผิดเฉพาะฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังมิได้กำหนดโทษสำหรับความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยไปพร้อมนี้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ส่วน โทษปรับนั้นจำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้ว จึงงดปรับให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานชิงทรัพย์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4