คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำความผิดของจำเลยทั้งหกฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศและหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรฐานจัดตั้งสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย และฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่ละฐานแยกออกต่างหากจากกันได้ชัดเจนทั้งในแง่เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำ เวลาที่การกระทำเป็นความผิดสำเร็จลงตลอดจนบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน จึงเป็นการกระทำความผิดแยกเป็น 4 กรรม
จำเลยทั้งหกมีวิทยุคมนาคมไว้ก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้ การที่จำเลยทั้งหกนำเครื่องวิทยุคมนาคมที่มีอยู่มาตั้งเป็นสถานีวิทยุคมนาคมก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้เช่นกันแล้วจำเลยก็ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่มีและตั้งขึ้นเป็นสถานีวิทยุคมนาคมเหล่านั้น อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมตามรายการเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งหกใน 3 ฐานความผิดที่กล่าว จึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งหกมีเจตนาเดียว เพื่อที่จะสามารถติดต่อด้วยเครื่องวิทยุคมนาคม จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27, 27 ทวิ, 32, 33 พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521มาตรา 6 ทวิ, 13, 20 ทวิ, 21, 25 ตรี ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 3พ.ศ. 2539 เรื่อง กำหนดคุณภาพของน้ำมันดีเซลสำหรับใช้กับเครื่องยนต์หมุนเร็ว พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 2, 19, 31พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 175, 282 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2481 มาตรา 9พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 มาตรา 40, 63 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 11, 22, 23 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 และริบของกลางทั้งหมด เฉพาะเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางให้ริบเพื่อไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้จับ และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมตามกฎหมาย

จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพตามฟ้อง เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรรับสารภาพฐานรับไว้ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิง

โจทก์และจำเลยทั้งหกไม่สืบพยาน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 ทวิ ฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศจำคุกคนละ 2 ปี ปรับจำเลยทั้งหกรวม 2,467,162.08 บาท ตามพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ทวิ วรรคแรก, 20 ทวิฐานมิใช่ผู้ค้าน้ำมันที่ได้รับใบอนุญาต แต่จัดตั้งสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับคนละ 10,000 บาท ตามมาตรา 25 ตรีวรรคสอง ฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 1 ปี ปรับ100,000 บาท และตามมาตรา 13 วรรคสาม, 21 ฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและร่วมกันจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าคุณภาพที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ปรับคนละ 20,000 บาท ตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 19, 31 ฐานมีเครื่องวัดไว้ในครอบครองโดยไม่มีตราเครื่องหมายคำรับรองของเจ้าพนักงาน ปรับคนละ 1,000 บาทตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 23 ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 20,000 บาท ฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 20,000 บาท และตามมาตรา 11, 23 ฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 6 (ที่ถูกจำเลยที่ 5) มีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 282 ฐานเป็นผู้ทำการในเรือในตำแหน่งที่กฎข้อบังคับสำหรับการตรวจเรือกำหนด โดยไม่มีประกาศนียบัตรรับรอง ปรับคนละ 2,000 บาท เฉพาะจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 175 ฐานใช้เรือผิดจากเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือปรับ 5,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2481มาตรา 9 วรรคแรก ฐานใช้เรือที่ใบอนุญาตใช้เรือสิ้นอายุแล้ว ปรับ5,000 บาท และตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 มาตรา 40,63 ฐานเปลี่ยนแปลงตัวเรือให้ผิดไปจากรายการซึ่งปรากฏอยู่ในใบทะเบียนปรับ 200 บาท รวมลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 จำคุกคนละ 2 ปี ปรับรวมเป็นเงิน 2,467,162.08 บาทความผิดตามพระราชบัญญัติอื่น ๆ ลงโทษจำเลยที่ 1 รวม 11 กระทงจำคุก 1 ปี ปรับ 203,200 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6รวม 7 กระทง จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 191,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 5 รวม 8 กระทง จำคุก 1 ปี ปรับ 193,000 บาท จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จำคุกจำเลยทั้งหกคนละ 1 ปี ปรับรวมเป็นเงิน1,233,581.04 บาท สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอื่น ๆคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ปรับ 101,600 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 คนละ 6 เดือน ปรับคนละ 95,500 บาทจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 6 เดือน ปรับ 96,500 บาท จำเลยทั้งหกไม่เคยกระทำผิดมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยทั้งหกเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีริบของกลางทั้งหมด เฉพาะเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางให้ริบไว้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข เนื่องจากไม่ปรากฏว่าไม่อาจขายของกลางได้ จึงให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบ กับจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมจำเลยทั้งหก ร้อยละสิบห้าของราคาของกลางในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ที่ศาลสั่งริบตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 และมาตรา 8 วรรคแรก ข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งหกอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ทวิ วรรคแรก, 13 วรรคสาม,20 ทวิ, 21, 25 ตรี ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83แต่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ปรับจำเลยทั้งหกเป็นเงินรวม 1,692,582.92 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกคนละ1 ปี ปรับรวมเป็นเงิน 846,291.46 บาท มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 23 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แต่ละกรรมมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกรรมเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ปรับคนละ 20,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วคงปรับคนละ 10,000 บาท และมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 19, 31 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2481 มาตรา 9 วรรคแรกให้ปรับ 2,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 1,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้งหกฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศและหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรฐานจัดตั้งสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาตฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย และฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งหกใน 4 ฐานนี้ แต่ละฐานแยกออกต่างหากจากกันได้ชัดเจน ทั้งในแง่เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำเวลาที่การกระทำเป็นความผิดสำเร็จลง ตลอดจนบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยใน 4 ฐานความผิดนี้จึงเป็นการกระทำความผิดแยกเป็น 4 กรรม

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งหกฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมเห็นว่า การที่จำเลยทั้งหกมีวิทยุคมนาคมไว้ ก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้ การที่จำเลยทั้งหกนำเครื่องวิทยุคมนาคมที่มีอยู่นั้นมาตั้งเป็นสถานีวิทยุคมนาคมขึ้นก็ด้วยเจตนาเพื่อใช้เช่นกัน แล้วจำเลยก็ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่มีและตั้งขึ้นเป็นสถานีวิทยุคมนาคมเหล่านั้น อันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมตามรายการเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งหกใน 3 ฐานความผิดที่กล่าวจึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งหกมีเจตนาเดียว เพื่อที่จะสามารถติดต่อด้วยเครื่องวิทยุคมนาคม จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลอุทธรณ์ลงโทษฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตชอบแล้ว

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า ในความผิดฐานซื้อหรือรับไว้ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศและหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร และฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย สมควรรอการลงโทษให้จำเลยทั้งหกหรือไม่ เห็นว่า โทษที่จำเลยทั้งหกได้รับทั้งโทษปรับและโทษริบทรัพย์สินหนักอยู่แล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยทั้งหก

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า ในความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งลงโทษในบทตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต สมควรลงโทษจำคุกอีกสถานหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า วิทยุคมนาคมเป็นอุปกรณ์อันจำเป็นแก่การเดินเรือ วิทยุคมนาคมที่ยึดได้เป็นของกลาง เชื่อว่าเป็นจำนวนพอสมควรแก่การใช้งาน การลงโทษในฐานนี้เพียงโทษปรับสถานเดียวสมควรแก่รูปคดีแล้วแต่เห็นควรลงโทษปรับให้หนักขึ้นอีก

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งหกในฐานจัดตั้งสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่าย และฐานเป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดอีก 3 กระทงด้วย อัตราโทษแต่ละกระทงลงเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนด ความผิดฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 60,000 บาท ลดกึ่งหนึ่งแล้วคงปรับคนละ30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share