คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องและคำให้การเป็นกรณีพิพาทกันระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อกับจำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายเกี่ยวกับเรื่องการผิดสัญญาซึ่งมีคำขอให้ชำระเงินค่าที่ดินคืนและเรียกค่าปรับอันเป็นกรณีที่ต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 370 ถึง 372 และมาตรา 380 ถึง 382 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเป็นบทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 2 จึงเป็นกรณีพิพาทกันในมูลผิดสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีอ้างว่าเป็นผู้ขออายัดห้ามการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ทำให้จำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายได้ ก็เป็นแต่การขอให้เข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยในมูลคดีเดิมว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เพียงใดนั่นเอง และแม้จำเลยร่วมจะอ้างว่า ต. นำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่าง ต. กับมารดาจำเลยร่วมซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของ ต. และถึงแก่ความตายแล้วไปทำสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากมารดาจำเลยร่วมก่อน ทำให้สัญญาจะซื้อจะขายเป็นโมฆะ ตนจึงต้องมาขออายัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็เป็นแต่การกล่าวอ้างถึงสาเหตุที่ตนไม่จำต้องชำระค่าปรับให้แก่โจทก์หรือชำระค่าทดแทนให้แก่จำเลยเท่านั้น จึงไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดี เมื่อประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้มีว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลเฉพาะตัวของจำเลยเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญา กรณีจึงไม่มีประเด็นเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาโดยตรง คดีนี้จึงไม่ใช่คดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3) จึงไม่เป็นคดีครอบครัว ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 นายมนตรีทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9247, 9248, 9249, 9250 และ 9251 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จากนายเติมศักดิ์ กับจำเลยในราคา 14,000,000 บาท ก่อนที่นายมนตรีจะถึงแก่ความตายได้จ่ายเงินค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายครบถ้วนแล้ว แต่นายเติมศักดิ์กับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้นายมนตรีเพียง 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 9250 และ 9251 เท่านั้น นายมนตรีทวงถามให้นายเติมศักดิ์กับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่นายมนตรีแล้ว แต่นายเติมศักดิ์กับจำเลยเพิกเฉย ทำให้นายมนตรีได้รับความเสียหาย จำเลยในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับนายเติมศักดิ์และในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเติมศักดิ์ ต้องรับผิดต่อนายมนตรี ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9247 ซึ่งเป็นโฉนดที่มาจากการรวมโฉนดที่ดิน 9247, 9248 และ 9249 ให้แก่นายมนตรี หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดินแปลงดังกล่าวแก่โจทก์เป็นเงิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กับให้จำเลยชำระค่าปรับอีก 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยก่อนฟ้อง 14,598,355 บาท และดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายเติมศักดิ์ แต่รับว่าจำเลยกับนายเติมศักดิ์ร่วมกันทำสัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้องจริง และรับเงินค่าซื้อขายที่ดินมาครบถ้วนแล้ว แต่ก่อนที่นายเติมศักดิ์จะถึงแก่ความตายจำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายแล้วโดยนัดให้ฝ่ายโจทก์ไปทำการรับโอนที่ดินแล้ว แต่ปรากฏว่าขณะอยู่ระหว่างการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน นายอัครวัฒน์ ผู้จัดการมรดกของนายเติมศักดิ์มายื่นคำร้องขอให้ระงับการทำนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงทำให้ไม่สามารถโอนที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ได้โดยไม่ใช่ความผิดของจำเลย จำเลยไม่ได้ผิดสัญญากับโจทก์ และโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่ระงับการทำนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์จึงไม่สามารถเรียกค่าปรับจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนายอัครวัฒน์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าหากจำเลยต้องโอนที่ดินหรือชำระค่าปรับแก่โจทก์แล้วจำเลยมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยและเรียกค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการกระทำละเมิดจากนายอัครวัฒน์ในนามผู้จัดการมรดกของนายเติมศักดิ์และในฐานะส่วนตัวได้ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมเป็นบุตรของนายพะเยาว์หรือเติมศักดิ์ กับนางอุไรวรรณ ที่ดินตามฟ้องพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสระหว่างนางอุไรวรรณกับนายเติมศักดิ์ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกำหนดราคาซื้อขายต่ำกว่าราคาซื้อขายในปี 2556 หรือปี 2557 มาก กำหนดเวลาการใช้เงินตามสัญญานาน 6 ถึง 7 ปี และไม่มีหลักฐานการชำระค่าที่ดิน สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นสัญญาลวงและเป็นนิติกรรมอำพราง มิได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายกันจริง ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเป็นสินสมรสที่ยังไม่ได้แบ่งกันระหว่างนายเติมศักดิ์กับนางอุไรวรรณ การที่นายเติมศักดิ์กับจำเลยนำที่ดินที่มารดาจำเลยร่วมยังเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปทำสัญญาจะจำหน่าย จ่าย โอนให้แก่บุคคลภายนอกย่อมเป็นโมฆะ การทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันถึงจำเลยร่วม ขอให้ยกคำร้องที่ให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีและยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานจำเลยร่วม ภายหลังจำเลยร่วมแถลงหมดพยาน คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณา ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิเคราะห์คำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย และจำเลยร่วมแล้ว เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับนายเติมศักดิ์และในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเติมศักดิ์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็ให้จำเลยชำระราคาคืนพร้อมชำระค่าปรับ ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยกับนายเติมศักดิ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ใช่ผู้จัดการมรดกของนายเติมศักดิ์แต่เป็นจำเลยร่วม จำเลยยินดีปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย แต่เหตุที่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยร่วมขออายัดห้ามการจดทะเบียนดังกล่าวอันมิใช่เป็นความผิดของจำเลย โจทก์ชอบที่จะเรียกค่าปรับเอาจากจำเลยร่วมเอง และขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี จึงเป็นกรณีพิพาทกันระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อกับจำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายเกี่ยวกับเรื่องการผิดสัญญาซึ่งมีคำขอให้ชำระเงินค่าที่ดินคืนและเรียกค่าปรับอันเป็นกรณีที่ต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 370 ถึง 372 และมาตรา 380 ถึง 382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 จึงเป็นกรณีพิพาทกันในมูลผิดสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลจังหวัดเชียงใหม่ แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีอ้างว่าจำเลยร่วมเป็นผู้ขออายัดห้ามการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ทำให้จำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายได้ ก็เป็นแต่การขอให้เข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยในมูลคดีเดิมว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เพียงใดนั่นเอง และแม้จำเลยร่วมจะอ้างว่านายเติมศักดิ์นำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างนายเติมศักดิ์กับมารดาจำเลยร่วมซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายเติมศักดิ์และถึงแก่ความตายแล้วไปทำสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากมารดาจำเลยร่วมก่อน ทำให้สัญญาจะซื้อจะขายเป็นโมฆะ ตนจึงต้องมาขออายัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็เป็นแต่การกล่าวอ้างถึงสาเหตุที่ตนไม่จำต้องชำระค่าปรับให้แก่โจทก์หรือชำระค่าทดแทนให้แก่จำเลยเท่านั้น จึงไม่ใช่ประเด็นโดยตรงในคดี เมื่อประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้มีว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ เพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลเฉพาะตัวของจำเลยเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญา กรณีจึงไม่มีประเด็นเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาโดยตรง คดีนี้จึงไม่ใช่คดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติ ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 7 เดือน กันยายน พุทธศักราช 2558

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์)
ประธานศาลฎีกา

Share