คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลแพ่งมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายย่อมทำให้จำเลยที่ 2 กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนรวมทั้งสามารถต่อสู้คดีได้เอง โจทก์ฟ้องคดีภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้จึงมีอำนาจฟ้อง แม้ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 25 เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเข้าว่าคดีหรือมีคำขอให้จำหน่ายคดี ศาลย่อมมีอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ต่อไป
เมื่อจำเลยที่ 2 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 2 ย่อมขาดจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1154 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนอีกต่อไป เมื่ออำนาจจัดการทรัพย์สินจำเลยที่ 1 ของจำเลยที่ 2 หมดไปแล้ว จึงมิอาจเปลี่ยนมือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ ๑ ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ต่อจากบุคคลอื่นที่ทิ้งงานไปโดยโจทก์หาวัสดุก่อสร้างและจ้างแรงงานเองจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าจ้างงวดที่โจทก์ทำงานเสร็จแล้ว โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าจ้าง ๑๗๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ หลังจากผู้รับจ้างทิ้งงาน จำเลยทั้งสองเข้าดำเนินการก่อสร้างเองจนแล้วเสร็จโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องเคลือบคลุมและขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนว่าศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ ๒เด็ดขาด และมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อใด ศาลชั้นต้นได้ทำการไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ เด็ดขาด ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศลงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๖ ว่าศาลแพ่งได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ ๒ ครั้นวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๗ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ เป็นบุคคลล้มละลาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า เนื่องจากศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์จำเลยที่ ๒ เด็ดขาดและมีคำพิพากษาให้ล้มละลายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาไม่ชอบ เพราะโจทก์ชอบที่จะไปขอรับชำระหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น เห็นว่า การที่ศาลแพ่งมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายย่อมทำให้จำเลยที่ ๒ กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน รวมทั้งสามารถต่อสู้คดีได้เอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๗ ภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ แม้ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ เป็นบุคคลล้มละลายแล้วเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๕เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเข้าว่าคดีหรือมีคำขอให้จำหน่ายคดี ศาลย่อมมีอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาสำหรับจำเลยที่ ๒ต่อไป ฎีกาจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ ๑ จะไม่ได้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่เมื่อจำเลยที่ ๒ ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วอำนาจจัดการทรัพย์สินเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ จึงเปลี่ยนมือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ การดำเนินกระบวนพิจาณาในคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ต่อมาย่อมไม่ชอบนั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็รับวินิจฉัยให้ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ ตกเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ ๒ ย่อมขาดจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๕๔ จำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนอีกต่อไป เมื่ออำนาจจัดการทรัพย์สินจำเลยที่ ๑ ของจำเลยที่ ๒ หมดไปแล้ว จึงมิอาจเปลี่ยนมือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share