แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อผู้เสียหายได้อ่านจดหมายกรรโชกของจำเลยแล้วจึงตกลงยอมจะให้เงินตามที่เรียกร้องเนื่องจากเกรงจะได้รับอันตราย การที่ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนกระทำกันตามปกติมิใช่ผู้เสียหายไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จ ไม่ใช่อยู่ในชั้นพยายาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 337 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 337 จำคุก 4 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 337 จำคุก 2 ปี 8 เดือน โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเมื่อผู้เสียหายได้รับจดหมายกรรโชกตามเอกสารหมาย จ.1 แล้วได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและนำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังที่นัดวางเงินเพื่อจับกุมผู้กรรโชก จึงแสดงว่าผู้เสียหายไม่ได้ยอมตามคำขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชกนั้นปัญหาข้อนี้ผู้เสียหายเบิกความว่าเมื่อได้อ่านจดหมายกรรโชกเอกสารหมาย จ.1 แล้ว ผู้เสียหายได้ปรึกษากับภรรยา แล้วตกลงยอมจะให้เงินตามที่เรียกร้องเนื่องจากเกรงจะได้รับอันตราย นอกจากนี้ยังได้เบิกความด้วยว่า ได้ไปแจ้งต่อสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปัวว่า ตกลงยินยอมที่จะให้เงินตามที่เรียกร้องและได้ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามไปสองคน เพื่อนำเงินไปวางไว้ยังที่นัดหมายเพราะกลัวไม่ปลอดภัย ซึ่งแสดงว่าผู้เสียหายยอมจ่ายเงินตามที่ถูกกรรโชก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จแล้วไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายามดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย การที่ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนนั้นเป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนกระทำกันตามปกติธรรมดาไม่ได้แสดงว่าผู้เสียหายไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่อย่างใดฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”