คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4980/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมิใช่เป็นมรดกของ ด. แม้ที่ดินพิพาทจะมีชื่อด. เป็นเจ้าของก็ตาม แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นเพียงที่ดินมือเปล่าซึ่งโอนให้แก่กันได้ โดยเพียงแต่ผู้เป็นเจ้าของแสดงเจตนาสละการครอบครองเท่านั้นสำหรับกรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมรดกของ ด. และจำเลยได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก คดีดังกล่าวจำเลยได้ระบุในคำร้องคัดค้านคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ด.ว่า ด. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้ว หาได้ระบุว่าเป็นมรดกของ ด. ไม่ การที่จำเลยโต้แย้งยืนยันตลอดมา แสดงให้เห็นว่าการยื่นคำร้องคัดค้านนั้นเป็นการปกป้องสิทธิของตน และเพื่อจะดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทเท่านั้น การโอนที่ดินพิพาทหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ด.จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของในเอกสารสำคัญสำหรับที่ดินพิพาทให้ถูกต้องตามความจริง หาทำให้ความเป็นเจ้าของที่ดินของจำเลย เปลี่ยนแปลงไปไม่ เมื่อจำเลยได้รับที่ดินพิพาท มาจากการที่ น.และด. ยกให้และจำเลยได้ครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของตลอดมา ที่ดินพิพาทมิใช่เป็นมรดกของ ด. จำเลยจึงไม่มีหน้าที่จะต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็น ทายาทของ ด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสอง นางแนม สุไรเวชนางเพียร แก้วสุวรรณ และจำเลย เป็นบุตรของนายนุ่มและนางแดง ศรนารายณ์หรือศรนะรายณ์โดยนายนุ่มได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2531นางแดงถึงแก่ความตาย นางแดงมีที่ดินเป็นทรัพย์มรดก2 แปลง คือตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 116 และ 1686 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2535 จำเลยได้เป็นผู้จัดการมรดกของนางแดงตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของนางแดงมาแล้วแต่จำเลยไม่ยอมแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วน คิดเป็นเงินคนละ 106,000 บาทรวมเป็นเงิน 212,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 116 และ 1686เป็นมรดกของนางแดง ศรนารายณ์หรือศรนะรายณ์ ผู้ตายตกได้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลย นางแนม และนางเพียรคนละส่วนเท่า ๆ กัน เฉพาะที่จำเลยต้องแบ่งให้โจทก์ทั้งสองจำนวนสองในห้าส่วนรวมเป็นเงิน 212,000 บาท หากแบ่งที่ดินดังกล่าวไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกันตามส่วน
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจัดการแบ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 116, 1686 ออกเป็นห้าส่วนเท่า ๆ กันโดยให้โจทก์แต่ละคนได้รับคนละหนึ่งส่วนหากแบ่งกันไม่ได้ให้นำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสองตามส่วนดังกล่าวแล้ว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นบุตรของนางแดงซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่18 ตุลาคม 2531 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามหนังสือรับรองทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 116และ 1686 มีชื่อนางแดงเป็นเจ้าของถือสิทธิครอบครองแต่จำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตั้งแต่ก่อนที่นางแดงถึงแก่ความตายตลอดมา เมื่อวันที่18 มิถุนายน 2534 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางแดงคือ ที่ดินที่พิพาททั้งสองแปลงแต่จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านว่านางแดงได้ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วขอให้ยกคำร้องขอของโจทก์ที่ 1 และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแดง ซึ่งในที่สุดศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแดง ครั้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2536จำเลยได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงใส่ชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางแดง ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2536โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนางแดงให้แบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วนในคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นมรดกของนางแดงหรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า โจทก์ที่ 2 เบิกความว่านางนวม หลักทรัพย์ ซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดานางแนม สุไรเวชและนางเพียร แก้วสุวรรณ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันพูดกับโจทก์ที่ 2 ว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบิดามารดายกให้แก่จำเลยแล้ว เจือสมกับคำพยานจำเลย แม้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจะมีชื่อนางแดงเป็นเจ้าของ แต่ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็เป็นเพียงที่ดินมือเปล่าซึ่งโอนให้แก่กันได้ โดยเพียงแต่ผู้เป็นเจ้าของแสดงเจตนาสละการครอบครองเท่านั้น สำหรับกรณีที่ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 244/2535 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางแดงและจำเลยได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นชื่อในฐานะผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยได้ระบุในคำร้องคัดค้านในคดีนั้นว่า นางแดงยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยแล้ว หาได้ระบุว่าเป็นมรดกของนางแดงไม่ อันเป็นการโต้แย้งยืนยันตลอดมา แสดงให้เห็นว่าการยื่นคำร้องคัดค้านั้นเป็นการปกป้องสิทธิของตนและเพื่อจะดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเท่านั้น ดังนั้น การโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของในเอกสารสำคัญสำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ถูกต้องตามความจริงหาทำให้ความเป็นเจ้าของที่ดินของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปไม่ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ได้โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสองหลังจากที่จำเลยรับโอนมาในฐานะผู้จัดการมรดกมาเป็นชื่อของจำเลยในฐานะเจ้าของนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยถือว่าได้รับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจากการที่นายนุ่มและนางแดงยกให้และได้ครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของตลอดมามิใช่เป็นมรดกของนางแดง จำเลยก็ไม่มีหน้าที่จะต้องโอนตามที่โจทก์อ้าง พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ฟังได้ว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่ใช่มรดกของนางแดง
พิพากษายืน

Share