แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
นายจ้างจ่ายเงินค่าครองชีพให้ลูกจ้างทุกคนเป็นจำนวนแน่นอนและจ่ายเป็นประจำทุกเดือน มีลักษณะเป็นการจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานตามปกติของลูกจ้างทุกคนเช่นเดียวกับเงินเดือน ถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน จึงต้องนำค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดด้วย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งแปดสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบเป็นลูกจ้างของจำเลยโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 8 ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,000บาท ค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท โจทก์ที่ 9 และที่ 10 ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,100 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 400 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างและค่าครองชีพทุกวันที่ 26 ของเดือน จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด แต่จำเลยมิได้นำค่าครองชีพมารวมเป็นค่าจ้างในการคิดค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด จึงยังคงค้างจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสิบ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด จำนวน 5,027.50 บาท 3,044.50 บาท 2,810 บาท2,800.50 บาท 5,271 บาท 3,733 บาท 2,800.50 บาท และ 2,583 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ และเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันผิดนัดจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 ตามลำดับ ให้จำเลยนำค่าครองชีพมารวมเป็นค่าจ้างในการคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์ที่ 1ที่ 4 ถึงที่ 10 ทุกครั้งที่ให้ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด
จำเลยทั้งแปดสำนวนให้การว่า จำเลยได้ให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง แต่มีเงื่อนไขว่าจะจ่ายให้เฉพาะลูกจ้างที่ทำงานเกิน 5 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการจูงใจและให้กำลังใจ จำเลยมีสิทธิกำหนดจำนวนเงินเพิ่ม ลด เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกเสียก็ได้หากจำเลยขาดทุนหรือมีกำไรน้อย และการคิดคำนวณก็ต่างจากเงินเดือน เงินค่าครองชีพจึงไม่ใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงไม่เป็นค่าจ้างไม่ต้องนำมารวมเป็นค่าจ้างคิดค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง จึงเป็นค่าจ้าง จำเลยต้องนำมารวมเป็นค่าจ้างในการคิดค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดจำนวน 3,184บาท 2,779 บาท 1,546 บาท 1,631 บาท 1,682 บาท 1,768 บาท 1,766บาท และ 1,611 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 กรกฎาคม 2534) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 10 ตามลำดับ คำขออื่นให้ยก จำเลยทั้งแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่จะวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เงินค่าครองชีพตามฟ้องเป็นเงินสวัสดิการที่จำเลยจ่ายช่วยเหลือลูกจ้าง หรือเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พิเคราะห์แล้วศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 2524 พนักงานของจำเลยยื่นข้อเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าอาหารให้พนักงานทุกคน คนละ 600บาทต่อเดือน ผลการเจรจาจำเลยตกลงเพิ่มค่าอาหารจากเดิมเดือนละ150 บาทต่อคน เป็นเดือนละ 250 บาท ต่อคน โดยเปลี่ยนชื่อค่าอาหารเป็นค่าครองชีพตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ที่กรมแรงงานและยังคงยึดถือตามหลักการดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันต่อมาในปี 2525 จำเลยเพิ่มค่าครองชีพให้เป็นคนละ 300 บาทต่อเดือนแล้วไม่มีการเพิ่มอีก จนกระทั่งในปี 2531 เพิ่มให้เฉพาะพนักงานที่ทำงานเกินกว่า 5 ปี อีกคนละ 50 บาทต่อเดือน ปี 2532 เพิ่มให้อีกคนละ 50 บาทต่อเดือน และปี 2533 เพิ่มให้แก่พนักงานทุกคนคนละ 50 บาทต่อเดือน เห็นว่า เงินประเภทใดที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างอันจะถือว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน2515 ข้อ 2 ซึ่งนิยามคำว่าค่าจ้างไว้ว่า “ค่าจ้าง หมายความว่าเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยจ่ายเงินค่าครองชีพให้โจทก์ทุกคนเป็นจำนวนแน่นอนและจ่ายเป็นประจำทุกเดือนมีลักษณะเป็นการจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานตามปกติของโจทก์ทุกคนเช่นเดียวกับเงินเดือน ถือได้ว่า ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยตามที่กล่าวข้างต้น จึงต้องนำค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดด้วยศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งแปดสำนวนฟังไม่ขึ้น แต่คดีนี้คู่ความรับกันว่า ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดของโจทก์ที่ 1 จำเลยค้างจ่ายอยู่เป็นเงิน 3,084 บาทตามบัญชีท้ายคำให้การของจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 3,184 บาท จึงถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด 3,084 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง