แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ว่าสัญญาจะซื้อขายที่เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ทั้งห้าก่อนที่จะถึงแก่ความตายจะมีเพียงบุคคลสิทธิ ไม่ส่งผลให้โจทก์ทั้งห้าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งห้าได้เคยฟ้องกองมรดกของเจ้ามรดกและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้าแล้ว แม้ภายหลังจะมีการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนเดิมและตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่แทน คำพิพากษาตามยอมก็ยังมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ต้องปฏิบัติตาม ส่วนจำเลยที่ 3 แม้ว่าจะเป็นวัดแต่เมื่อได้รับโอนที่ดินพิพาทมาตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกย่อมต้องรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดอันเกี่ยวกับที่ดินที่รับโอนมาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600, 1601 และ 1651 (2) การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติการชำระหนี้ของเจ้ามรดกที่ก่อไว้ก่อนถึงแก่ความตาย มิใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์หรือศาสนสมบัติกลางอันจะต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ศาลจึงมีคำพิพากษาในส่วนนี้ได้
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่ายังมีข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยอยู่อีกและข้อเท็จจริงนี้อาจเป็นผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงไป สมควรที่จะฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความให้สิ้นกระแสความเสียก่อน จึงสมควรให้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ข) ประกอบด้วยมาตรา 247
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายลับยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 254 แล้วให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนที่แบ่งแยก ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตามลำดับ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2516 นายลับเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 254, 257, 272 และ 274 ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยก่อนทำพินัยกรรมเจ้ามรดกได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 254 (บางส่วน) ไว้กับโจทก์ที่ 3 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 257 ไว้กับโจทก์ที่ 4 และทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 272 และ 274 ไว้กับโจทก์ที่ 5 และหลังจากทำพินัยกรรมแล้วเจ้ามรดกได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 254 (บางส่วน) ไว้กับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2516 โจทก์ทั้งห้าต่างได้ยื่นฟ้องทายาทและผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมเมื่อปี 2517 ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2524 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก (คนเดิม) และตั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทน ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 254 เฉพาะส่วนตามพินัยกรรมและที่ดินโฉนดเลขที่ 257, 272 และ 274 ให้แก่จำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินที่นายลับเจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ทั้งห้าก่อนที่นายลับจะถึงแก่ความตายเป็นสัญญาจะซื้อจะขายมีเพียงบุคคลสิทธิ โจทก์ทั้งห้ายังไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนที่จะมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่ตามฟ้องของโจทก์ทั้งห้าก็ได้อ้างถึงสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น ซึ่งเดิมโจทก์ทั้งห้าได้ฟ้องกองมรดกของนายลับ โดยทายาทผู้รับมรดกและนายรินทร์ผู้จัดการมรดกคนเดิมของนายลับ ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว และทายาทผู้รับมรดกและผู้จัดการมรดกของนายลับได้ยินยอมโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้า และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว แม้ต่อมาผู้จัดการมรดกคนเดิมที่ตกลงยินยอมโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าจะถูกศาลชั้นต้นเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่แทน คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวก็ยังมีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จัดการมรดกคนใหม่และจำเลยที่ 3 ผู้ได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรม เพราะนายจันทร์ผู้จัดการมรดกคนเดิมกระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดกของนายลับ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จัดการมรดกคนใหม่ ก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับนายจันทร์ ที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายลับให้แก่ทายาทหรือมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อไว้ก่อนตายด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาตามพินัยกรรมของนายลับก็เป็นผู้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรม เมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทของเจ้ามรดกมา จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดที่เกี่ยวกับที่ดินที่รับโอนมานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600, 1601 และ 1651 (2) จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินพิพาทตามที่นายลับเจ้ามรดกทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้กับโจทก์ทั้งห้าและศาลได้พิพากษาให้โอนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะมิได้ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดการโอนที่ดินพิพาทด้วย แต่เจตนาการฟ้องของโจทก์ทั้งห้าก็เพื่อต้องการให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนายลับโอนที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทมา จึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าตามกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าได้และแม้จำเลยที่ 3 จะเป็นวัด การที่ศาลให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทซึ่งตกมาเป็นของจำเลยที่ 3 โดยพินัยกรรมดังกล่าวเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติการชำระหนี้ของเจ้ามรดกที่ก่อไว้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มิใช่การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์หรือศาสนสมบัติกลางอันจะต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย โดยที่ยังมีข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การที่จะต้องวินิจฉัยอยู่อีกและข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยนี้อาจเป็นผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงไป สมควรที่ศาลจะต้องฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความให้สิ้นกระแสความเสียก่อน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ข) และมาตรา 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำพิพากษาไปตามรูปความ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.