คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4978/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะฯ กับความผิดฐานทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญา มีลักษณะแห่งการกระทำความผิดแตกต่างกัน ทั้งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้คนละฉบับ การกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ดำเนินการสถานพยาบาล โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทำการประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ร่วมกันมีเพนตาโซซีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 จำนวน 5 หลอด หลอดละ 1 มิลลิลิตร โดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีไดอาซีแพมอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 จำนวน 8 หลอด หลอดละ 2 มิลลิลิตร โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ใช้ประโยชน์ซึ่งเพนตาโซซีนและไดอาซีแพม จำนวนและปริมาณเท่าใดไม่ปรากฏชัด ฉีดเข้าร่างกายหญิงผู้รับการทำแท้งเพื่อระงับความเจ็บปวด โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และทำให้นางสาวอรพรรณ เที่ยงตรง อายุ 15 ปีเศษ แท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 4, 16, 23, 24, 57 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 62, 106 พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 5, 30, 57 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 302 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 24 วรรคหนึ่ง, 57 พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 มาตรา 30, 57 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 วรรคแรก, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท ฐานร่วมกันดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท ฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันมีเพนตาโซซีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท ฐานร่วมกันมีไดอาซีแพมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท ฐานร่วมกันใช้ประโยชน์ซึ่งเพนตาโซซีนและไดอาซีแพมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท ฐานร่วมกันทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท รวมจำคุกคนละ 4 ปี 16 เดือน และปรับคนละ 68,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 34,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายใน 1 ปี และให้ทำงานบริการสังคมตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 เห็นสมควร มีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีเพนตาโซซีนกับไดอาซีแพมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับฐานร่วมกันใช้ประโยชน์ซึ่งเพนตาโซซีนกับไดอาซีแพมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียวกัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้ประโยชน์ซึ่งเพนตาโซซีนกับไดอาซีแพมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแต่เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อรวมโทษฐานร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตโดยลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ 1 ปี 2 เดือน และปรับคนละ 23,000 บาท และเฉพาะความผิดฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตกับฐานร่วมกันทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ 9 เดือน ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามกับไม่คุมความประพฤติจำเลยทั้งสามเฉพาะความผิดฐานนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสามขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตและร่วมกันทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม เป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ขัดต่อศีลธรรมอันดีในสังคมอย่างรุนแรงและอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพอนามัยและชีวิตของผู้เข้าทำแท้งได้ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ทำแท้งลูกและไม่ได้รับอันตรายจากการทำแท้งลูก ก็ยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสามประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าวในสถานเบาแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันทำการประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตและฐานร่วมกันทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมเป็นกรรมเดียวกัน นั้น เห็นว่า ความผิดฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะฯ กับความผิดฐานทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญา มีลักษณะแห่งการกระทำความผิดแตกต่างกัน โดยการกระทำที่เรียกว่าเป็นการประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับใบอนุญาตนั้นต้องเป็นการประกอบวิชาชีพที่กระทำหรือมุ่งหมายจะกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ แต่มิได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับใบอนุญาต จึงเป็นความผิด ส่วนการกระทำความผิดฐานทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนาทำให้หญิงแท้งลูก ทั้งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้คนละฉบับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดทั้งสองฐานมาเป็นกรรมเดียวจึงเป็นการมิชอบศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาจึงไม่แก้โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสาม อย่างไรก็ดีสำหรับความผิดฐานร่วมกันประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 มาตรา 30, 57 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ต้องห้ามโจทก์มิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ โจทก์อุทธรณ์โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษหนักขึ้นอันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลชั้นต้นจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยความผิดนี้มาด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้มาด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตและความผิดฐานทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนของข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 มาตรา 30, 57 วรรคหนึ่ง และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนโทษในความผิดฐานทำให้แท้งลูกและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share