คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาเป็นข้อตกลงในศาลชั้นบังคับคดีหลังจากที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและได้ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ยอมตกลงกับจำเลยในชั้นไต่สวนคำร้องขอพิพากษาคดีใหม่ โดยยอมรับตามที่จำเลยขอผ่อนชำระหนี้ในยอดเงิน 41,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็น 2 งวด เป็นเพียงโจทก์ยอมสละสิทธิในหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย หากจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามกำหนดในข้อตกลงดังกล่าว ทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าโจทก์ยอมยกเลิกหรือไม่ติดใจบังคับคดีตามคำพิพากษาเดิมจากจำเลยทันที แต่ระบุว่าหากจำเลยนำเงินมาชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจจะบังคับคดีกับจำเลยในคดีนี้อีกเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำให้หนี้เดิมตามคำพิพากษาสิ้นผลบังคับไป ฉะนั้นเมื่อจำเลยผิดข้อตกลงไม่นำเงินงวดที่ 2 จำนวน 31,000 บาท มาชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แล้ว โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวอีก และโจทก์จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาเดิม โจทก์จึงยังคงมีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์ของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเดิมต่อไปได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายต่อมาโจทก์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากงานโดยให้มีผลในวันที่ 25 มิถุนายน 2549 แต่จำเลยมีหนังสืออนุมัติให้โจทก์ลาออกตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นไป ทำให้โจทก์เสียหาย เสียโอกาสในการทำงานและได้รับค่าจ้างถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์กำหนดให้มีผลเป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้าง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นค่าจ้าง 1 เดือน ค่าจ้างที่โจทก์ทำงานในวันหยุดชดเชย 2 วัน ค่าเบี้ยเลี้ยงรวมเป็นค่าจ้างค้างจ่ายทั้งสิ้น 44,833.34 บาท ค่าเงินประกัน 4,000 บาท และให้จำเลยจ่ายค่าคอมมิสชันอัตราร้อยละ 1 จากยอดขายที่โจทก์ทำได้ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และค่าเสียหายจากการทำละเมิด 41,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยได้รับหมายเรียกแล้วไม่มาศาลตามกำหนดนัดโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างจำนวน 44,833.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าคอมมิสชันจำนวน 52,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีใหม่
ระหว่างนัดไต่สวนคำร้อง วันที่ 8 พฤษภาคม 2550 นายวิทยา กรรมการจำเลย แถลงต่อศาลว่ายินยอมที่จะชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 41,000 บาท โดยจะนำเงินมาวางศาลชำระเป็น 2 งวด ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 11 มิถุนายน 2550 ศาลสอบโจทก์แล้วแถลงว่า หากจำเลยนำเงินมาชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่ติดใจที่จะบังคับคดีกับจำเลยในคดีนี้อีก ศาลแรงงานกลางจึงให้เลื่อนไปนัดไต่สวนใหม่ในวันที่ 14 มิถุนายน 2550 เวลา 9 นาฬิกา ตามวันว่างของคู่ความรายละเอียดตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระงวดแรกวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 จำเลยได้นำเงินมาวางศาลชำระให้แก่โจทก์จำนวน 10,000 บาท ตามคำร้องขอวางเงินฉบับลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ต่อมาถึงวันนัดไต่สวนใหม่วันที่ 14 มิถุนายน 2550 ปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัด โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลแรงงานกลางถือว่าจำเลยไม่ติดใจคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2550 จำเลยยื่นคำร้องว่า ได้นำเงินสดที่เหลือจำนวน 31,000 บาท มาวางศาลเพื่อชำระให้แก่โจทก์ และขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกเลิกการบังคับคดี ที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดบัญชีเงินฝากของจำเลย 3 บัญชี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า เนื่องจากศาลมีคำสั่งยกคำร้องเพราะจำเลยไม่มาศาล ถือว่าไม่ติดใจร้องขอพิจารณาคดีใหม่ แม้จะปรากฏในชั้นไต่สวนขอพิจารณาคดีใหม่ว่าได้มีการตกลงกับโจทก์ว่า หากนายวิทยาชำระเงินแก่โจทก์ 41,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็น 2 งวด โจทก์จะไม่บังคับคดีจำเลย แต่เมื่อคำร้องพิจารณาคดีใหม่ถูกยกไปแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกไปด้วยโดยจะต้องบังคับตามคำพิพากษา ดังนั้น จึงไม่มีการณีที่จำเลยจะต้องนำเงินมาวางศาลเพื่อให้โจทก์ไม่ต้องบังคับคดีแก่จำเลยตามที่ตกลงในชั้นไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่อีก ให้ยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2550 จำเลยยื่นคำร้องขอวางเงินส่วนที่เหลืออีก 31,000 บาท ให้แก่โทก์ตามข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 โดยอ้างว่าข้อตกลงดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันโจทก์จำเลยที่ลงลายมือชื่อไว้และขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดี ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่า คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ยกคำร้องดังกล่าวของจำเลยชอบแล้วหรือไม่ โดยที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่า ข้อตกลงของโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ดังกล่าวถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ลงลายมือชื่อไปแล้ว ทำให้หนี้เดิมตามคำพิพากษาสิ้นผลไปและไม่ได้มีข้อตกลงว่าหากจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความภายในกำหนดแล้ว โจทก์สามารถบังคับกับจำเลยได้ทันที จำเลยจึงยังคงมีความผูกพันตามข้อตกลงที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในหนี้ส่วนที่เหลือให้ครบถ้วนและโจทก์ไม่มีอำนาจแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากของจำเลยต่อไปนั้น เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวแม้จะเป็นข้อตกลงในศาล แต่ก็เป็นข้อตกลงในชั้นบังคับคดีหลังจากที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและได้ขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ยอมตกลงกับจำเลยในชั้นไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ โดยยอมรับตามที่จำเลยขอผ่อนชำระหนี้ในยอดเงิน 41,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็น 2 งวด ดังกล่าวนั้นก็เป็นเพียงโจทก์ยอมสละสิทธิในหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย หากจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามกำหนดในข้อตกลงดังกล่าว ทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าโจทก์ยอมยกเลิกหรือไม่ติดใจบังคับคดีตามคำพิพากษาเดิมจากจำเลยทันที แต่ระบุว่าหากจำเลยนำเงินมาชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจจะบังคับคดีกับจำเลยในคดีนี้อีกเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำให้หนี้เดิมตามคำพิพากษาสิ้นผลบังคับไป ฉะนั้นเมื่อจำเลยผิดข้อตกลงไม่นำเงินงวดที่ 2 จำนวน 31,000 บาท มาชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แล้ว โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวอีก และโจทก์จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาเดิม โจทก์จึงยังคงมีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์ของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเดิมต่อไปได้ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องที่จำเลยขอวางเงินส่วนที่เหลือชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 31,000 บาท ตามข้อตกลงดังกล่าว และที่ขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากของจำเลยนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share