คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3319/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า แม้จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน 200,000 บาท แต่โจทก์กับจำเลยมีมูลหนี้กัน 100,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 100,000 บาท ทั้งนี้โดยรับฟังข้ออ้างของจำเลยที่ว่า หากจำเลยต้องรับผิดก็คงรับผิดเพียงหนี้ตามเช็คที่ ส. ได้สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ ฉบับละ 50,000 บาท รวม 100,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คทั้งสองไว้เท่านั้น ทั้งนี้จำเลยได้ขอให้ศาลออกคำสั่งเรียกสมุดบัญชีเงินสดรายวันของโจทก์ที่แสดงให้ปรากฏรายการรับเงินการจ่ายเงินทุกประเภทของทุกวันทำการระหว่างวันที่ 17 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 และระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์มาเป็นพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ถึงข้ออ้างของจำเลยแต่โจทก์ไม่สามารถส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงได้วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกเอกสารของศาลโดยไม่มีเหตุผลสมควร ถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างของจำเลยที่ว่ามูลหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์จำนวน 100,000 บาท โจท์ยอมรับแล้วตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 123 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเช็คพิพาทเพียง 100,000 บาท เท่านั้น การจะนำข้อสันนิษฐานตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับต่อคดีได้นั้น ต้นฉบับเอกสารที่จำเลยอ้างว่าอยู่ในความครอบครองของโจทก์ที่จำเลยประสงค์จะอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานจะต้องเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ทำให้สามารถพิสูจน์พยานซึ่งเป็นประเด็นในดคีได้โดยตรง คดีนี้ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยซึ่งรับเองว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ในปี พ.ศ.2541 ส่วนพยานเอกสารที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกจากโจทก์นั้น เป็นสมุดเงินสดรายวันของโจทก์ระหว่างวันที่ 17 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 และระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2543 ซึ่งไม่อยู่ในระยะเวลาที่จำเลยอ้างว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทแก่โจทก์ ดังนั้น แม้จะได้เอกสารที่จำเลยขอมาและจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดเป็นคนนำเช็คไปขายลดเช็คให้โจท์หรือมีหลักฐานว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่เท่าใด ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะมีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ แล้วต่อมาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบนำเช็คไปขึ้นเงินต่อธนาคารแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 พฤษภาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าแม้จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำนวนเงิน 200,000 บาท แต่โจทก์กับจำเลยมีมูลหนี้กัน 100,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 100,000 บาท ทั้งนี้โดยรับฟังข้ออ้างของจำเลยที่ว่าหากจำเลยต้องรับผิดก็คงรับผิดเพียงหนี้ตามเช็คที่นายสุรชัย ได้สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ ฉบับละ 50,000 บาท รวม 100,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.2 ซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คทั้งสองไว้เท่านั้น ทั้งนี้จำเลยได้ขอให้ศาลออกคำสั่งเรียกสมุดบัญชีเงินสดรายวันของโจทก์ที่แสดงให้ปรากฏรายการรับเงินการจ่ายเงินทุกประเภทของทุกวันทำการระหว่างวันที่ 17 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2510 และระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์มาเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ถึงข้ออ้างของจำเลย แต่โจทก์ไม่สามารถส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงได้วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกเอกสารของศาลโดยไม่มีเหตุผลสมควรถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างของจำเลยที่ว่ามูลหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์จำนวน 100,000 บาท โจทก์ยอมรับแล้วตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเช็คพิพาทเพียง 100,000 บาท นั้น เห็นว่า การจะนำข้อสันนิษฐานตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับต่อคดีได้นั้น ต้นฉบับเอกสารที่จำเลยอ้างว่าอยู่ในความครอบครองของโจทก์ที่จำเลยประสงค์จะอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานจะต้องเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ทำให้สามารถพิสูจน์พยานซึ่งเป็นประเด็นในคดีได้โดยตรง คดีนี้ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยซึ่งรับเองว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์ในปี พ.ศ.2541 ส่วนพยานเอกสารที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกจากโจทก์นั้น เป็นสมุดเงินสดรายวันของโจทก์ระหว่างวันที่ 17 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 และระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2543 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2543 ซึ่งไม่อยู่ในระยะเวลาที่จำเลยอ้างว่าได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทแก่โจทก์ ดังนั้น แม้จะได้เอกสารที่จำเลยขอมาและจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดเป็นคนนำเช็คเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.2 ไปขายลดเช็คให้โจทก์หรือมีหลักฐานว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่เท่าใด ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะมีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจายเช็คพิพาทจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ แล้วต่อมาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบนำเช็คไปขึ้นเงินต่อธนาคารแต่ธนาคารตามเช็คปฎิเสธการจ่ายเงิน จำเลยย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็นนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท

Share