แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อโจทก์เพื่อค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ว่า หากจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายจะยอมชดใช้หนี้สินหรือค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2ผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์อยู่ด้วย หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานในการค้ำประกันเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้นมิใช่สัญญาค้ำประกัน แม้จะมีข้อความว่าสัญญาค้ำประกันก็ตาม เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 104 และบัญชีอากรแสตมป์ลักษณะ 17ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 200,000 บาทต่อมาจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายรวมเป็นเงิน 167,783.20 บาทโจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 30,614 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 198,397 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินจำนวน 167,783.20 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัด ศาลแรงงานกลางพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ทุจริตไม่ส่งเงินค่าสินค้าและค่าใช้จ่ายคืนโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดแก่โจทก์ สำหรับสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ไม่ปิดและขีดฆ่าแสตมป์ให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเท่ากับโจทก์ไม่มีหลักฐานการค้ำประกันเป็นหนังสือ ไม่อาจจะฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันให้รับผิด พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 167,783.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า โจทก์จะใช้สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4ซึ่งไม่ได้ปิดแสตมป์อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า เอกสารหมาย จ.4 เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ว่าหากจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดหนี้สินหรือความเสียหายแก่โจทก์แล้วจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้หนี้สินหรือค่าเสียหายแก่โจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันได้ลงลายมือชื่อไว้เท่านั้น ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์อยู่ด้วย เอกสารหมายจ.4 ดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานในการค้ำประกันเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้นมิใช่สัญญาค้ำประกัน แม้เอกสารหมาย จ.4 จะมีข้อความว่าสัญญาค้ำประกันเอกสารดังกล่าวก็มิใช่ตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะ 17 ดังนั้น เอกสารหมาย จ.4 ที่ไม่ได้ปิดแสตมป์จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ เมื่อรับฟังได้ว่าเอกสารหมาย จ.4 เป็นหลักฐานแห่งการค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้หนี้หรือค่าเสียหายให้โจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท ทันที แสดงว่ามีข้อตกลงเป็นพิเศษให้โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน มีผลให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินไม่เกิน200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 200,000 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 167,783.20 บาทพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งไม่เกินวงเงินที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันตามเอกสารหมายจ.4 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง