คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4964/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสามไม่อาจฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำการโดยสุจริตหรือคบคิดกันฉ้อโกงโจทก์หรือไม่ศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสามก่อนการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบโจทก์และจำเลยทั้งสามจึงเป็นการมิชอบ โจทก์กล่าวในคำฟ้องด้วยว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันทำสัญญาซื้อขายเป็นการฉ้อฉลโจทก์อันหมายถึงการกระทำโดยไม่สุจริตหรือฉ้อโกงโจทก์นั่นเองที่ศาลอุทธรณ์ภาค3วินิจฉัยว่าจำเลยที่1โอนขายทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่2และที่3เป็นการกระทำโดยสุจริตหรือไม่จึงมิได้เป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 14119, 19782, 19783 ตำบลหน้าเมือง(บ้านไร่)อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ของจำเลยทั้งสาม ณสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นโมฆะขอให้เพิกถอน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกจิตรตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจที่จะทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจ่าสิบเอกจิตรได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1ขายที่ดินทรัพย์มรดกของจ่าสิบเอกจิตรแก่นายสมศักดิ์ จำเลยที่ 2และที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกและภายในขอบอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก เพื่อนำเงินที่ขายได้แบ่งปันแก่ทายาท จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์มรดกแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวในฐานะทายาทจากจำเลยที่ 1 ตามส่วนสัดหรือจำนวนที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งมิได้เป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินเพื่อเข้าครอบครองและปลูกตึกแถวในที่ดินโฉนดเลขที่ 19783 และ 14419 ซึ่งเมื่อปลูกตึกแถวเสร็จสามารถนำไปให้ผู้อื่นเช่า ได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 3,000 บาทต่อหนึ่งห้อง จำนวน 10 ห้อง เป็นเงินค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 30,000 บาท ส่วนตึกแถวในที่ดินโฉนดเลขที่ 19782 สามารถนำไปให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้ว จึงได้แจ้งให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่โจทก์เพิกเฉยทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์กับบริวารขนย้ายสัมภาระสิ่งของต่าง ๆ ออกไปจากที่ดินและตึกแถวเลขที่ 62ถนนราษฎรยินดี ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรีห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เดือนละ 35,000 บาท นับแต่วันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์และบริวารจะออกไปจากที่ดินและตึกแถวของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การที่โจทก์ครอบครองที่ดินเป็นการใช้สิทธิในฐานะทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในที่ดิน หาเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงมีคำสั่งไม่รับ และเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีสิทธิขายทรัพย์มรดกของจ่าสิบเอกจิตร ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ตามกฎหมายโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ในฐานะทายาทคนหนึ่งของจ่าสิบเอกจิตรและโจทก์ย่อมมีความผูกพันต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในสัญญาซื้อขายที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นการทำไปโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ให้หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัวซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนจึงจะผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1724 วรรคสองนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสามจึงสมบูรณ์และมีผลผูกพันโจทก์โจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้าง ทั้งกรณีมิใช่เป็นการทำนิติกรรมฉ้อฉลโจทก์เพราะโจทก์มิใช่คู่สัญญาในนิติกรรมหรือเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่จะร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานแล้วมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมของจ่าสิบเอกจิตร จิตรเสงี่ยม เจ้ามรดกและจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบเอกจิตรตามคำสั่งศาล ต่อมาเมื่อวันที่11 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อโจทก์ทราบโจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 2 สิงหาคม 2536 คัดค้านให้จำเลยที่ 1 ระงับการซื้อขาย ภายหลังต่อมาเมื่อวันที่4 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 1 ก็ยังจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่นั้นชอบหรือไม่เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของจ่าสิบเอกจิตรผู้เป็นบิดาร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของบิดาตามคำสั่งศาลนำทรัพย์มรดกพิพาทไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมเมื่อโจทก์ทราบ โจทก์ก็ได้คัดค้านโดยมีหนังสือให้จำเลยที่ 1 ระงับการขาย แต่จำเลยทั้งสามก็ยังสมคบกันทำนิติกรรมโอนขายทรัพย์มรดกพิพาทเป็นการฉ้อฉลโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคำฟ้องดังกล่าวเป็นการกล่าวหาจำเลยทั้งสามว่า สมคบกันกระทำการโดยไม่สุจริตฉ้อโกงโจทก์นั่นเอง ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ให้การว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก จึงมีอำนาจจะขายทรัพย์มรดกได้และเป็นการกระทำในขอบอำนาจของผู้จัดการมรดก ทั้งมิได้เป็นการฉ้อฉลโจทก์ ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสามดังกล่าวข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่า จำเลยทั้งสามกระทำการโดยสุจริตหรือคบคิดกันฉ้อโกงโจทก์หรือไม่ ศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสามก่อน การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบโจทก์และจำเลยทั้งสามจึงเป็นการมิชอบ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาข้อต่อมาว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้โต้เถียงกันว่าจำเลยทั้งสามกระทำการโดยไม่สุจริต การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1โอนขายทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำโดยสุจริตหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องนั้น เห็นว่าตามฟ้องโจทก์ได้กล่าวด้วยว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันทำสัญญาซื้อขายเป็นการฉ้อฉลโจทก์ อันหมายถึงการกระทำโดยไม่สุจริตหรือฉ้อโกงโจทก์นั่นเอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีดังกล่าวจึงมิได้เป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องดังที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ฎีกา เมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ปัญหาที่เหลือจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share