คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำนวนเงินต้นในสัญญากู้ยืมเงิน ได้รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว จึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ผิดกฎหมายไม่อาจบังคับชำระได้รวมอยู่ด้วย แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น จำเลยก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และนับโทษจำเลยที่ 2และที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ช.598/2533 หมายเลขแดงที่ ช.4553/2533, ช.5674/2532 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช.5056/2533 และหมายเลขดำที่ ช.3690/2532ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายชูเกียรติ ไพศาลอัชพงษ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 80,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 เดือน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ช.5674/2532, ช.4553/2533, ช.5056/2533, ช.5511/2533 (หมายเลขดำที่ ช.3690/2532) และ ช.748/2534 (หมายเลขดำที่ ช.598/2533)ของศาลชั้นต้น ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า ตกลงกู้เงินกันมีกำหนดระยะเวลา 6 เดือน ถึงแม้ในทางพิจารณาจะได้ความว่ามีการแบ่งจ่ายเงินต้นออกเป็นสามงวดก็ตาม แต่ไม่ว่าจะคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี จากยอดเงินต้นจำนวน 5,500,000 บาทในระยะเวลา 6 เดือน หรือคำนวณนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ได้รับเงินที่กู้จนถึงวันที่เช็คที่จำเลยที่ 2 ออกให้เพื่อชำระหนี้ถึงกำหนดจ่ายเงิน อันเป็นช่วงระยะที่มีการกู้เงินกันตามความเป็นจริงจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่คำนวณได้ก็ไม่ถึง 500,000 บาท ทั้งสองกรณีดอกเบี้ยที่ตกลงกันตามสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.9 จึงเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 ดังนั้น การที่นางเจริญศรีคิดดอกเบี้ยเอากับจำเลยที่ 2เป็นเงิน 500,000 บาท แล้วนำไปรวมกับเงินต้นเป็นเงิน 6,000,000 บาทเป็นการให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 เช็คพิพาทเป็นเช็คที่ออกให้เพื่อชำระหนี้ดังกล่าว จึงเป็นเช็คที่มีมูลหนี้ผิดกฎหมายไม่อาจบังคับชำระได้รวมอยู่ด้วย ดังนี้การออกเช็คพิพาทของจำเลยที่ 1 และที่ 2จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share