แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าอาคารแม้จะเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่การจะบังคับตามสัญญาก็ต้องพิจารณาว่าจะใช้บทกฎหมายใด บังคับ กรณีที่จำเลยวางเงินประกันสัญญาเช่า 300,000 บาท ถ้าจำเลยผิดสัญญายินยอมให้โจทก์ริบเงินประกันสัญญาได้ทันที และปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ชำระค่าเช่าตามเวลาที่กำหนดไว้ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงเป็นกรณีที่จำเลยยอมให้โจทก์ริบ เงินประกันเมื่อชำระหนี้ไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามกำหนดเวลา และโจทก์อาจใช้สิทธิเรียกเอาเงินดังกล่าวอันจะพึงริบได้นั้น แม้ในสัญญาเช่าจะไม่เรียกว่าเป็นเบี้ยปรับ แต่ข้อที่กำหนดไว้ ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ดังนี้เงินประกันสัญญาเช่า ดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์จากโจทก์มีกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม2531 กำหนดค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 60,000 บาท ชำระทุกวันที่ 5 ของเดือนจำเลยวางเงินประกันสัญญาเช่าในวันทำสัญญาเป็นเงิน 300,000 บาท ต่อมาจำเลยค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2530 ถึงเดือนมกราคม 2531 เป็นเวลา 4 เดือน เป็นเงิน 240,000 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ และจำเลยผิดสัญญาเช่าไม่ชำระค่าภาษีโรงเรือนให้โจทก์รวม 3 ปี ไม่ชำระค่าโทรศัพท์ซึ่งอยู่ในอาคารที่จำเลยเช่า ทำให้องค์การโทรศัพท์เลิกสัญญาเช่าเครื่องโทรศัพท์ดังกล่าว โจทก์เสียหายเป็นเงิน28,000 บาท จำเลยให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินค่าประกันกระแสไฟฟ้าจำนวน 13,500 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2531 จำเลยส่งมอบอาคารให้โจทก์ในสภาพชำรุดเสียหาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาเช่า โจทก์จึงริบเงินประกันสัญญาเช่าและจำเลยต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างจำนวน 240,000 บาท และค่าเสียหายต่าง ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น370,987.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 370,987.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้ผิดสัญญาเช่าโจทก์ไม่มีสิทธิริบเงินประกันสัญญาเช่าจำนวน 300,000 บาท จำเลยไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายจำนวน 370,987.50 บาท โจทก์ต้องคืนเงินประกันสัญญาเช่าที่เหลือจำนวน 120,000 บาท ให้จำเลย ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปแก่จำเลยจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยผิดสัญญาเช่า โจทก์จึงมีสิทธิริบเงินประกันสัญญาเช่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์คืนเงิน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปแก่จำเลยจนกว่าชำระเสร็จสิ้น
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ของโจทก์มีกำหนด 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2531 ค่าเช่าเดือนละ 60,000 บาทโดยจะชำระค่าเช่าภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน และจำเลยได้วางเงินประกันสัญญาเช่าเป็นเงิน 300,000 บาท เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยจะต้องส่งมอบอาคารคืนให้ในสภาพเรียบร้อย และโจทก์จะคืนเงินประกันสัญญาให้ ถ้าจำเลยผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดจำเลยยินยอมให้โจทก์ริบเงินประกันสัญญาได้ทันที ตามสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์เอกสารหมาย จ.1 ต่อมาจำเลยไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนตุลาคม2530 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า เงินประกันสัญญาเช่าจำนวน 300,000 บาท เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ ตามเอกสารหมาย จ.1 แม้จะเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่การจะบังคับตามสัญญาก็ต้องพิจารณาว่าจะใช้บทกฎหมายใดบังคับ กรณีที่จำเลยวางเงินประกันสัญญาเช่า 300,000 บาท ถ้าจำเลยผิดสัญญายินยอมให้โจทก์ริบเงินประกันสัญญาได้ทันทีและปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ชำระค่าเช่าตามเวลาที่กำหนดไว้ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ย่อมเห็นได้ว่า การที่จำเลยยอมให้โจทก์ริบประกันเมื่อชำระหนี้ไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามกำหนดเวลา และโจทก์อาจใช้สิทธิเรียกเอาเงินดังกล่าวอันจะพึงริบได้นั้น แม้ในสัญญาเช่าจะไม่เรียกเบี้ยปรับ แต่ข้อที่กำหนดไว้ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เงินประกันสัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเบี้ยปรับให้โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระจำนวน 180,000 บาท แล้วนำไปหักจากเงินประกันสัญญาเช่าจำนวน 300,000 บาท ก็เหลือเงินที่โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยจำนวน 100,000 บาท จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน