คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะที่สิบตำรวจตรี ศ. กับพวกเข้าตรวจค้นร้านเกิดเหตุและจับกุมจำเลยทั้งสองนั้น ก็มีเพียงจำเลยทั้งสองและหญิงค้าประเวณีเท่านั้นที่อยู่ในร้านดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ดำเนินกิจการต่าง ๆ ในร้านเกิดเหตุทั้งหมดตั้งแต่เชียร์ลูกค้า เก็บเงินค่าบริการ ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่หญิงค้าประเวณีแต่ละคนขายบริการในแต่ละเดือนจนกระทั่งจ่ายเงินให้แก่หญิงค้าประเวณี ทั้งจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รวบรวมเงินรายได้ดังกล่าวมอบให้แก่นายทุน เมื่อเข้ามาที่ร้านเกิดเหตุ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจบริหารงานและจัดระเบียบในการค้าประเวณีของหญิงค้าประเวณีในร้านเกิดเหตุและให้คุณให้โทษแก่หญิงที่ค้าประเวณีดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีร้านเกิดเหตุ โดยผู้ค้าประเวณีทุกคนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ทางร้านกำหนดไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ดูแลสถานการค้าประเวณีและเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงแม่บ้านและช่วยแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับหญิงที่ค้าประเวณีเท่านั้น โดยไม่ได้ดูแลกิจการของร้านเกิดเหตุทั้งหมด และไม่มีอำนาจสั่งการหรือกำหนดกฎเกณฑ์ให้หญิงค้าประเวณีปฏิบัติเพื่อกิจการค้าประเวณี จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9, 11 พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 4, 5, 7 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3, 4, 26 พระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาตรา 3, 5, 13 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 2 กลับให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี (ที่ถูก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี) พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 11 วรรคสอง พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5, 7 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2546 (ที่ถูก พ.ศ.2509) มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 26 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้ดูแลสถานการค้าประเวณี จำคุกคนละ 5 ปี ฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งผู้ค้าประเวณี จำคุกคนละ 5 ปี ฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็กจำคุกคนละ 5 ปี ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 6 ปี 18 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็ก จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 5 ปี 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษความผิดฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท ยกฟ้องข้อหาความผิดฐานเป็นเจ้าของผู้ดูแลสถานการค้าประเวณีและเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกระทำความผิดฐานเป็นผู้ดูแลสถานการค้าประเวณีและเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันและจำเลยทั้งสองก็ให้การในชั้นสอบสวนยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเชื่อว่าเบิกความตามความเป็นจริง ซึ่งขณะที่สิบตำรวจตรีศราวุธกับพวกเข้าตรวจค้นร้านเกิดเหตุและจับกุมจำเลยทั้งสองนั้น ก็มีเพียงจำเลยทั้งสองและหญิงค้าประเวณีเท่านั้นที่อยู่ในร้านดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ดำเนินกิจการต่าง ๆ ในร้านเกิดเหตุทั้งหมดตั้งแต่เชียร์ลูกค้า เก็บเงินค่าบริการ ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่หญิงค้าประเวณีแต่ละคนขายบริการในแต่ละเดือนจนกระทั่งจ่ายเงินให้แก่หญิงค้าประเวณี ซึ่งจะจ่ายให้เดือนละครั้ง ทั้งจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้รวบรวมเงินรายได้ดังกล่าวมอบให้แก่นายวัชรินทร์ นายทุน เมื่อเข้ามาที่ร้านเกิดเหตุ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจบริหารงานและจัดระเบียบในการค้าประเวณีของหญิงค้าประเวณีในร้านเกิดเหตุและให้คุณให้โทษแก่หญิงที่ค้าประเวณีดังกล่าวได้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีร้านเกิดเหตุ โดยผู้ค้าประเวณีทุกคนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ทางร้านกำหนดไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ดูแลสถานการค้าประเวณีและเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ข้อนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงแม่บ้านและช่วยแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับหญิงที่ค้าประเวณีเท่านั้น โดยไม่ได้ดูแลกิจการของร้านเกิดเหตุทั้งหมด และไม่มีอำนาจสั่งการหรือกำหนดกฎเกณฑ์ให้หญิงค้าประเวณีปฏิบัติเพื่อกิจการค้าประเวณี พยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลสถานการค้าประเวณีและเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้ว เป็นจำคุก 4 ปี 14 เดือน และปรับ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share