คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

กรณีที่จำเลยจะประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ที่1ตามประมวลรัษฎากรมาตรา71(1)นั้นต้องเป็นกรณีที่โจทก์ที่1ส่งเอกสารและบัญชีให้จำเลยตรวจสอบไม่ครบถ้วนหากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่1ส่งเอกสารและบัญชีให้จำเลยตรวจสอบไม่ครบถ้วนจำเลยย่อมไม่มีอำนาจประเมินภาษีแก่โจทก์ที่1ตามประมวลรัษฎากรมาตรา71(1) เจ้าหน้าที่จำเลยประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักณที่จ่ายโดยคำนวณให้โจทก์ที่1เสียภาษีในอัตราร้อยละ3ของจำนวนเงินเดือนที่โจทก์ที่1ได้จ่ายไปตามที่ปรากฏในบัญชีกำไรขาดทุนมิได้ทำการประเมินตามบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรการประเมินภาษีของจำเลยจึงไม่ชอบแม้โจทก์ที่1จะมิได้หักภาษีเงินได้ส่วนนี้ไว้และมิได้นำส่งจำเลยจำเลยก็หาอาจเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ที่1โดยวิธีการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่ โจทก์ที่1เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญหลังจากที่ส.หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ที่1เสียชีวิตแม้โจทก์ที่2ซึ่งเป็นภรรยาส.และเป็นผู้จัดการมรดกส.จะได้เข้าไปดำเนินกิจการของโจทก์ที่1ก็หามีผลให้โจทก์ที่2ต้องกลายเป็นหุ้นส่วนและต้องรับผิดในหนี้ของโจทก์ที่1ไม่ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของโจทก์ที่1สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนอันจะมีผลให้โจทก์ที่2ต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดที่นายสุเทพอภิรัตนวุฒิ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายสุเทพ อภิรัตนวุฒิ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม2515 โจทก์ที่ 2 เป็นภรรยาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุเทพ อภิรัตนวุฒิ เมื่อวันที่14 พฤษภาคม 2522 เจ้าพนักงานประเมินภาษีของจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมสำหรับปี 2511 ถึงปี 2515 โดยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ไม่นำบัญชีของรอบระยะเวลาบัญชีแต่ละปีมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนและอ้างว่าโจทก์ที่ 2แสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ที่ 1 หลังจากนายสุเทพ อภิรัตนวุฒิ ถึงแก่กรรมแล้ว ปรากฏตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.2/1041/2/01251 – 01255 และสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและเงินเพิ่มตั้งแต่ปี 2511 ถึง 2515 ให้โจทก์ชำระทั้งสิ้น 25,380 บาท ปรากฏตามคำสั่งแจ้งประเมิรภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต.2/1041/1/15195 โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินภาษีต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ปรากฏตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 244 ก./2523 เกี่ยวกับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ที่ 1 ในปี 2511 – 2513 กับเลขที่ 244 ข./2523เกี่ยวกับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ที่ 1 ในปี 2514-2515 และเลขที่ 243/2523 เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายปี 2511-2515โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด จำเลยให้การว่าการประเมินภาษีทั้งหมดและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2511 ยังไม่ขาดอายุความ กรณีถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้นำบัญชีและเอกสารสำหรับปี 2511 ถึง 2513 ไปให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวน เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีได้ตามมาตรา 71แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2514 และ 2515 นั้น โจทก์ได้นำส่งเอกสารให้จำเลยตรวจสอบแล้วหากเอกสารบางส่วนฉีกขาดและหลุดหายไปและอยู่ในความครอบครองของจำเลยเจ้าพนักงานจึงไม่มีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71 แห่งประมวลรัษฎากรได้ การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ โจทก์มิได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งจำเลย แต่การคำนวณภาษีดังกล่าวนี้ประมวลรัษฎากรได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการไว้แล้ว การใช้วิธีคำนวณโดยถือเอาอัตราร้อยละ 3 ของเงินเดือนที่ปรากฏในบัญชีกำไรขาดทุนของโจทก์ที่ 1 เป็นการมิชอบการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบข้อเท็จจริงยังไม่พอฟังว่าโจทก์ที่ 2 แสดงตนเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ที่ 1 ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1054 ประกอบด้วยมาตรา 1080 ตามข้ออ้างของจำเลย โจทก์ที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรกับโจทก์ที่ 1 ด้วยพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายของเจ้าพนักงานประเมินเลขที่ ต.2/1041/2/01254, ต.2/1041/2/012555 ต.2/1041/1/15195 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 244 ข./2523, 243/2523 สำหรับคำสั่งแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินเลขที่ ต.2/1041/2/01253 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 244 ก./2523 ให้เพิกถอนเฉพาะส่วนที่แจ้งและวินิจฉัยให้โจทก์ที่ 2 ต้องรวมรับผิด จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ในปัญหาที่ว่าการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ที่ 1 สำหรับปี 2514และ 2515 ชอบหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหานี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 ส่งเอกสารและบัญชีต่าง ๆ ของปี 2514, 2515 ให้จำเลยตรวจสอบไม่ครบถ้วน โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามคำให้การของนายสุพรรณวนิชวัฒนะ สมุห์บัญชีของโจทก์ที่ 1 ซึ่งให้การต่อนางสาวลักษณา ทนุวงษ์ เจ้าหน้าที่ของจำเลย และนางสาวลักษณาได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2516 (เอกสารหมาย จ.ล.3) ว่า โจทก์ที่ 1 ได้ส่งบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ไว้ตามที่ปรากฏในบันทึกดังกล่าว โดยมีใบเสร็จรับเงินรวม 12 นัดด้วย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบัญชีและเอกสารที่โจทก์ส่งไม่ครบถ้วยหรือบางส่วนมีการฉีกขาดทำลายจนไม่สามารถทำการตรวจสอบได้ต่อมาเมื่อได้มีการทำรายงานการประเมินภาษีของโจทก์ที่ 1 ลงวันที่ 10 มกราคม 2522 (เอกสารหมาย จ.ล.6) ซึ่งนางสาวลักษณาเป็นผู้ร่างขึ้นนั้น ในเอกสารดังกล่าวนี้ได้ระบุถึงเอกสารที่โจทก์ที่ 1 นำส่งโดยไม่ได้ระบุถึงสำเนาใบเสร็จรับเงิน 12 นัดด้วย ที่จำเลยอ้างว่าเอกสารของโจทก์ฉีกขาดก็ไม่ได้ความว่าเป็นเอกสารอะไรบ้าง ไม่ปรากฏว่ามีการเรียกเอกสารเพิ่มเติมจากโจทก์ที่ 1 การกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่รอบคอบและปล่อยปละละเลยไว้เป็นเวลานานเกินสมควรเอกสารบางฉบับอาจสูญหายหรือถูกทำลายระหว่างอยู่ในครอบครองของจำเลยก็เป็นได้จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าที่เอกสารหมาย จ.ล.6มิได้ระบุถึงสำเนาใบเสร็จ 12 มัด เพราะเมื่อตรวจสอบแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องมัดเป็น12 มัดเช่นเดิม และเอกสารดังกล่าวให้ระบุถึงใบเสร็จรวมอยู่ในรายการข้อ 3 แล้ว ศาลฎีกาได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.ล.3 ระบุถึงเอกสารของโจทก์ที่ 1ไว้ 4 รายการ คือ 1.สมุดบัญชี ปี พ.ศ. 2514 จำนวน 10 เล่ม 2.สมุดบัญชี ปี พ.ศ. 2515จำนวน 10 เล่ม 3.สำเนาใบเสร็จรับเงิน 12 มัด และ 4.แฟ้มเอกสารต่าง ๆ จำนวน 10แฟ้ม ส่วนเอกสารหมาย จ.ล.6 ระบุถึงเอกสารของโจทก์ที่ 1 ว่ามี 3 รายการ คือ 1.สมุดบัญชี ปี 2514 จำนวน 1.เล่ม 2. สมุดบัญชี ปี 2515 จำนวน 10 เล่ม 3. ใบสำคัญจ่ายปี พงศ. 2515 – 2515 จำนวน 10 แฟ้ม แต่มีเพียงใบสำคัญ ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดใบเบิกค่าพาหนะ และใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถยนต์ ดังนี้ เมื่อเปรียบเทียบรายการเอกสารที่ระบุในเอกสารหมาย จ.ล.3 และ จ.ล.6 แล้ว จะเห็นได้ว่ารายการที่ 1 และ 2ในเอกสารหมาย จ.ล.3 ก็คือ รายการที่ 1 และที่ 2 ในเอกสารหมาย จ.ล.6 และรายการที่ 4 ในเอกสารหมาย จ.ล.3 ก็ตรงกับรายการที่ 3 ในเอกสารหมาย จ.ล.6 ส่วนรายการที่ 3 ในเอกสารหมาย จ.ล.3 คือใบเสร็จรับเงิน 12 มัด หาได้มีระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.ล.6 ไม่ แสดงว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยทำการตรวจเอกสารเพื่อประเมินภาษีของโจทก์ที่ 1 เมื่อปี 2522 ซึ่งเป็นเวลา 5 ปี หลังจากที่โจทก์ที่ 1 ได้ส่งมอบเอกสารให้จำเลยไว้เมื่อปี 2516 นั้น สำเนาใบเสร็จรับเงิน 12 มัด ได้สูญหายไปแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าสำเนาใบเสร็จรับเงิน 12 มัด แต่รวมอยู่ในรายการที่ 3 ของเอกสารหมาย จ.ล.6 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของจำเลยขัดกับคำเบิกความของนางสาวลักษณาพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้รับเอกสารของโจทก์ที่ 1 ไว้ เป็นผู้ทำเอกสารหมาย จ.ล.3 และเป็นผู้ร่างเอกสารหมาย จ.ล.3 คือเอกสารรายการที่ 4 ในเอกสารหมาย จ.ล.3 ซึ่งตามคำเบิกความของนางสาวลักษณานี้เอกสารรายการที่ 3 ในเอกสารหมาย จ.ล.6 ย่อมเป็นสำเนาใบเสร็จ122 มัด เพราะสำเนาใบเสร็จดังกล่าวอยู่ในรายการที่ 3 ของเอกสารหมาย จ.ล.3แจ้งความหมาย จ.ล.6 มีข้อความต่อท้ายรายการเอกสารรายการที่ 3 ว่ามีใบเสร็จรับเงินอยู่ด้วย ใบเสร็จรับเงินดังกล่าวก็ระบุชัดว่าเป็นใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถเท่านั้นไม่ปรากฏว่าได้ระบุถึงใบเสร็จรับเงินประเภทอื่นด้วยเลย จึงถือได้ว่าเป็นใบเสร็จ 12 มัดที่โจทก์ที่ 1ส่งให้จำเลยไว้ พยานหลักฐานดังกล่าวและพฤติการณ์แห่งวคดีน่าเชื่อว่าเอกสารที่โจทก์ที่ 1 ส่งให้จำเลบยไว้ได้สูญหายไปจริง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 ส่งเอกสารและบัญชีของปี 2514 และ 2515 ให้จำเลยตรวจสอบไม่ครบถ้วนอันจะทำให้จำเลยมีอำนาจประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ได้ สำหรับปัญหาที่ว่าการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายปี 2511 ถึง 2514 เป็นการชอบหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินภาษีโดยคำนวณให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของจำนวนเงินเดือนที่โจทก์ที่ 1 ได้จ่ายไปตามที่ปรากฏในบัญชีกำไรขาดทุน จำเลยหาได้ทำการประเมินตามบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรไม่ การประเมินภาษีของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นการมิชอบ แม้โจทก์ที่ 1 จะไม่ได้หักภาษีเงินได้ส่วนนี้ไว้ และมิได้นำส่งจำเลย ดังที่จำเลยฎีกา แต่เมื่อการประเมินภาษีของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยก็หาอาจเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ที่ 1 โดยวิธีการอันมิชอบด้วยกฎหมายนั้นไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่าโจทก์ที่ 2 ต้องรับผิดในค่าภาษีร่วมกับโจทก์ที่ 1ด้วยนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าโจทก์ที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ แม้จะฟังว่าโจทก์ที่ 2 เข้าไปดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนหลังจากที่นายสุเทพ อภิรัตนวุฒิ หุ้นส่วนผู้จัดการเสียชีวิตดังที่จำเลยฎีกา ก็หามีผลให้โจทก์ที่ 2ต้องกลายเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ที่ 1 และต้องรับผิดในหนี้ของโจทก์ที่ 1 ด้วย ดังที่จำเลยเข้าใจไม่ ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของโจทก์ที่ 1และสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนอันจะมีผลให้โจทก์ที่ 2 ต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนด้วย อนึ่ง ภาษีที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์ที่ 1 นี้ก็เป็นภาษีสำหรับปี 2511 ถึง 2515 เกิดขึ้นก่อนระยะเวลาที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ที่ 2 เข้าไปดำเนินงานของโจทก์ที่ 1 หามีบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรให้โจทก์ที่ 2 ต้องรับผิดในภาษีดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ พิพากษายืน

Share