คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ไม่มีข้อความยกเว้นไว้เป็นกรณีพิเศษมิให้ถือว่า การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพราะเหตุครบเกษียณอายุตามกฎหมายมิใช่เป็นการเลิกจ้าง และพนักงานจะครบเกษียณอายุเมื่อมีอายุเท่าใดอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกฎหมายและระเบียบของนายจ้าง จึงหาใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนไม่
การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของนายจ้างหาได้จำกัดแต่เฉพาะจ่ายแก่พนักงานที่เลิกจ้างเท่านั้นไม่ พนักงานที่ลาออกโดยไม่มีความผิดใด ๆ และทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ หรือพนักงานที่ถึงแก่กรรมโดยการถึงแก่กรรมนั้นมิได้เกิดจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จด้วย เงินบำเหน็จจึงมีลักษณะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โดยมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอบแทนที่ลูกจ้างทำงานตลอดมาจนออกจากงานลาออก หรือถึงแก่กรรม อันเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เงินบำเหน็จจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างมิใช่ค่าชดเชย
ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯเมื่อไม่จ่ายย่อมถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถาม ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน เมื่อผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 33,900 บาทแต่ลูกจ้างฟ้องขอค่าชดเชยมา 33,600 บาท เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง 33,900 บาท ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 หาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ โจทก์สำนวนแรกได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,175 บาท โจทก์สำนวนที่สองได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,600 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์สำนวนแรก 31,050 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์สำนวนหลัง 33,600 บาท

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยให้โจทก์ทั้งสองสำนวนออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ มิใช่การเลิกจ้าง แต่เป็นการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ซึ่งกำหนดระยะเวลาการทำงานไว้แน่นอนและโจทก์ทราบดีอยู่แล้ว โจทก์มีสิทธิเพียงได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยซึ่งเป็นจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยและได้รับไปแล้ว โจทก์ไม่เคยทวงถามค่าชดเชยจึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางให้เรียกโจทก์สำนวนแรกเป็นโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 2 และวินิจฉัยว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุครบเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง เงินบำเหน็จมิใช่ค่าชดเชย จำเลยผิดนัดจ่ายค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้างฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 33,900 บาท

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้ว มีความว่า “การเลิกจ้างตามข้อนี้หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 ฯลฯ” ซึ่งหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ไม่มีข้อความยกเว้นไว้เป็นกรณีพิเศษมิให้ถือว่า การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพราะเหตุครบเกษียณอายุอันเป็นการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มิใช่เป็นการเลิกจ้าง แม้มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้คำว่า “พ้นจากตำแหน่ง” ในกรณีพนักงานขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ก็หมายความว่าให้ดำเนินการให้พนักงานนั้นออกจากงานนั่นเอง จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุครบเกษียณอายุเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศข้างต้นแล้ว

พนักงานจะครบเกษียณอายุเมื่อมีอายุเท่าใด อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกฎหมายและระเบียบของจำเลย แม้กฎหมายหรือระเบียบของจำเลยกำหนดให้พนักงานครบเกษียณอายุและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็หาใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่ เพราะมิใช่เป็นการกำหนดว่าให้ผูกพันจ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์ทราบว่าจะต้องออกจากงานเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่โจทก์อาจลาออกจากงานก่อนกำหนดก็ได้หรือจำเลยอาจเลิกจ้างก่อนก็ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาโจทก์จึงหาใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนไม่

ตามข้อบังคับของจำเลยปรากฏว่า การจ่ายเงินบำเหน็จหาได้จำกัดแต่เฉพาะให้แก่พนักงานที่เลิกจ้างเท่านั้นไม่ พนักงานที่ลาออกโดยไม่มีความผิดใด ๆ และทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ หรือพนักงานที่ถึงแก่กรรมโดยการถึงแก่กรรมนั้นมิได้เกิดจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ก็ให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จได้ด้วย จึงเห็นว่าเงินบำเหน็จนี้มีลักษณะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 และข้อ 47 และเห็นได้ว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานในลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอบแทนที่ทำงานตลอดมาจนออกจากงาน ลาออก หรือถึงแก่กรรม อันเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง มิใช่ค่าชดเชย แม้ข้อบังคับของจำเลยจะกำหนดว่า เงินบำเหน็จให้ถือว่าเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย ก็หาหมายถึงเงินบำเหน็จดังกล่าวไม่ โจทก์จึงไม่สิ้นสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยจากจำเลย

ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2 ประกอบด้วยข้อ 46 เมื่อไม่จ่ายย่อมถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถาม ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน เมื่อผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 1

โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างสุดท้ายเป็นเงินเดือนละ 5,650 บาท มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 33,900 บาท ดังนี้ แม้โจทก์ที่ 2 จะฟ้องขอค่าชดเชยมา 33,600 บาทแต่เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2 เป็นจำนวน 33,900 บาท ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 หาขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่

พิพากษายืน

Share