แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ถูกจำกัดอำนาจโดยมีบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทนตามพ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 58 โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมมีความสามารถประกอบกิจการหรือจัดการทรัพย์สินได้ต่อไป เมื่อการให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินตามที่โจทก์ถูกเรียกตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษี การอุทธรณ์การประเมินต่อคณะ-กรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่งจึงอยู่ในอำนาจของโจทก์ที่จะจัดการได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
แม้โจทก์จะได้รับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแล้วแต่จำเลยมิได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้นั้น จึงไม่อาจผูกมัดเจ้าพนักงานประเมินในการเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ เพราะโจทก์ไม่อาจหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56, 77
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 บัญญัติเพียงว่าคำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้โดยมีข้อยกเว้นหนี้อันพึงขอรับชำระได้เพียง 2 กรณี ซึ่งข้อยกเว้นกรณีนี้กฎหมายหาได้บัญญัติว่าจะต้องเป็นหนี้ที่ได้ยื่นขอรับชำระแล้ว หรือเป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 91 แม้จำเลยมิได้ยื่นขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดตาม มาตรา 91 เจ้าพนักงาน-ประเมินก็มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์