แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองกับให้ส่งมอบที่ดินพร้อมอาคารพิพาทคืนแก่โจทก์ เรียกค่าเสียหายเทียบตามอัตราค่าเช่าเดือนละ 1,200 บาท จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างอาคารและอาศัยอยู่ในที่ดินของราชพัสดุ แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกกรมธนารักษ์เข้ามาเป็นคู่ความในคดีและศาลชั้นต้นจะได้อนุญาตแล้วก็ตาม ก็หาใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 กล่าวแก้ เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของตนเองไม่ เมื่อไม่มีข้อโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าในขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเกินเดือนละสองพันบาทจึงต้องฟังว่าอาจให้เช่าได้เดือนละ 1,200 บาท ตามฟ้องโจทก์ ดังนี้จึงเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การแล้ว ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน หลังจากนั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองแถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ตามขอ จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 อุธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่า และค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองกับให้ส่งมอบที่ดินพร้อมอาคารพิพาทคืนแก่โจทก์ ทั้งนี้โดยเรียกค่าเสียหายเทียบตามอัตราค่าเช่าเดือนละ 1,200 บาท จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างอาคารและอาศัยอยู่ในที่ดินของราชพัสดุ แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกกรมธนาคารรักษ์เข้ามาเป็นคู่ความในคดีและศาลชั้นต้นจะได้อนุญาตแล้วก็ตาม ก็หาใช่กรณีที่จำเลยที่ 2กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของตนเองไม่ เมื่อไม่มีข้อโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทอาจให้เช่าในขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเกินเดือนละสองพันบาท จึงต้องฟังว่าอาจให้เช่าได้เดือนละ 1,200 บาทตามที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 อันเป็นอุทธรณ์เกี่ยวกับดุลพินิจของศาลชั้นต้น ที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามบทกฎหมายดังกล่าว เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาของโจทก์.