คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับในวันที่21 กุมภาพันธ์ 2535 เมื่อปรากฏว่าการส่งมอบและตรวจรับสินค้าทำขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนั้น เรื่องอายุความฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายของสินค้าที่ขนส่งทางทะเลจึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 624 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นมาปรับแก่คดีในฐานะเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 เมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับตราส่งตรวจรับและพบความเสียหายของสินค้าที่ซื้อและส่งมาทางทะเลตั้งแต่วันที่4 มกราคม 2527 แต่โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเพิ่งมาฟ้องจำเลยเพื่อไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยไป ในวันที่ 9 ตุลาคม 2528ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันส่งมอบหรือวันที่ควรจะได้ส่งมอบสินค้า คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 624.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์รับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเลเพื่อบำเหน็จค่าจ้างขนส่ง เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2526 บริษัทบริสตอล -เมเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด สั่งซื้อนมผงไม่สกัดไขมัน จากบริษัทบริสตอล – เมเยอร์ส โอเวอร์ซีส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยบริษัทนิวซีแลนด์เดลี่บอร์ด จำกัด ในฐานะตัวแทนซึ่งตั้งอยู่ ณเมืองอ็อคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ มาจำหน่ายในประเทศไทยบริษัทบริสตอล – เมเยอร์ส โอเวอร์ซีส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ว่าจ้างสายการเดินเรือนิปปอน ยูเซน ไคซา ไลน์ ให้เป็นผู้ขนส่งสินค้ามายังประเทศไทย เมื่อขนมาถึงประเทศสิงคโปร์ สายการเดินเรือนิปปอนยูเซน ไคซา ไลน์ ไม่มีสาขาในประเทศไทยจึงตกลงให้จำเลยเป็นผู้รับขนสินค้าช่วงสุดท้ายโดยเรือธนภูมิมายังประเทศไทย และเข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2526 หลังจากขนถ่ายสินค้าจากเรือแล้ว ปรากฏว่าสินค้าเสียหายและสูญหายรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 35,570.80 ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทบริสตอล -เมเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด นำซากนมผงที่เสียหายออกขายทอดตลาดเพื่อบรรเทาความเสียหายได้เป็นเงิน 8,705.67 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นจึงเหลือค่าเสียหาย 30,607.63 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 700,914.73 บาทซึ่งเกิดเสียหายระหว่างการขนส่งของสายการเดินเรือนิปปอน ยูเซน ไคซาไลน์ และจำเลย บริษัท บริสตอล – เมเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัดเจ้าของสินค้าได้ทวงถามค่าเสียหายจำนวนนั้นจากจำเลยแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ บริษัทดังกล่าวจึงเรียกร้องเอาจากโจทก์ตามสัญญาประกันภัยโจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทดังกล่าวไปเป็นเงินจำนวน700,914.73 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าว และทวงถามเอาค่าเสียหายจำนวนนั้นจากจำเลยแล้ว จำเลยปฏิเสธความรับผิดจึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 700,914.73 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลแต่ไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ไม่ว่าเพื่อบำเหน็จค่าจ้างหรือเพื่อประโยชน์อื่น สายการเดินเรือนิปปอน ยูเซน ไคซา ไลน์ทำสัญญาขนส่งสินค้านมผงไม่สกัดไขมันกับบริษัทนิวซีแลนด์เดลี่บอร์ดจำกัด ไม่ใช่บริษัทบริสตอล – เมเยอร์ส โอเวอร์ซีส์คอร์ปอเรชั่นจำกัด ตามที่โจทก์ฟ้อง โดยบรรทุกเรือฮารูนา มารู วี.70 มาส่งที่ท่าเรือประเทศสิงคโปร์และถ่ายลงเรือธนภูมิของบริษัทอื่นขนส่งต่อโดยความยินยอมของผู้สั่งสินค้า จำเลยไม่เคยตกลงกับบริษัทนิวซีแลนด์เดลี่บอร์ด จำกัด หรือ บริษัทบริสตอล เมเยอร์ส โอเวอร์ซีส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือผู้รับขนสินค้าพิพาทเพื่อรับขนส่งหรือร่วมขนส่งสินค้าพิพาทมาประเทศไทย แต่จำเลยเป็นตัวแทนสายการเดินเรือนิปปอน ยูเซน ไคซา ไลน์ มีหน้าที่ให้ความสะดวกแก่เรือ ลูกเรือและนายเรือของเรือฮารูนา มารู วี.70 เมื่อขนสินค้ามาถึงกรุงเทพมหานคร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การขนส่งสินค้าในคดีนี้เป็นการขนส่งระบบคอนเทนเนอร์ โดยมีบริษัทนิวซีแลนด์เดลี่บอร์ด จำกัด เป็นผู้บรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์แล้วปิดและผนึกตรา (ซีล) ที่บานประตูส่งมอบให้สายการเดินเรือนิปปอน ยูเซน ไคซา ไลน์ ขนส่งมาท่าเรือประเทศสิงคโปร์ เพื่อถ่ายตู้สินค้าลงเรือธนภูมิมายังท่าเรือกรุงเทพมหานคร ก่อนทำการเปิดตู้สินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจสภาพของผนึกตราดังกล่าวแล้วปรากฏว่ามีสภาพเรียบร้อยไม่มีร่องรอยถูกแกะหรือทำลาย ดังนั้นความเสียหายของสินค้าจึงเป็นความผิดของบริษัทนิวซีแลนด์เดลี่บอร์ดจำกัด ผู้ขนส่งหรือจำเลยไม่ต้องรับผิด ทั้งไม่ต้องรับผิดเกี่ยวด้วยเรื่องกระป๋องนมผงเป็นสนิม เพราะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ผู้ขนส่งหรือจำเลยไม่อาจป้องกันหรือทราบได้ อนึ่งโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้าแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 700,914.73 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ1 ปี นับแต่วันที่มีการส่งมอบสินค้า แต่โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่าระยะเวลาดังกล่าว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่บริษัทเดินเรือนิปปอน ยูเซ็นไคซา ไลน์ จำกัด ขนสินค้านมผงทางทะเลจากประเทศนิวซีแลนด์มายังท่าเรือกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นท่าเรือปลายทาง เป็นการขนของทางทะเลประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคท้าย บัญญัติว่า”รับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการนั้น” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1066/2532 ระหว่างบริษัทการ์เดียนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดยอร์จเฟรนด์ชีพกับพวก จำเลย ซึ่งวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเมื่อฟังว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share