คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4950/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งมีราคา 25,000 บาท และ 30,000 บาทตามลำดับขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ ต. ผู้ตายไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของ ต.และ ส.ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาต่อมาต.ยกให้ส.ที่ดินพิพาทจึงเป็นของ ส. มิใช่ของโจทก์ ดังนี้ เป็นการต่อสู้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1796 และเลขที่ 1602 เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมผู้สืบสันดานของนางตุ๋ยไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 2 ฉบับเป็นของโจทก์ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาแทนจำเลยให้นิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงที่กระทำลงหลังจากนางตุ๋ย ถึงแก่กรรมเป็นโมฆะ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งมีราคา 25,000 บาท และ30,000 บาทตามลำดับ ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนางตุ๋ย ใจดี ผู้ตายไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ของที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางตุ๋ยมารดาจำเลยและนางแสง หลงศรีภูมิ ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ต่อมานางตุ๋ยยกให้นางแสงที่ดินพิพาทจึงเป็นของนางแสง มิใช่ของโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนี้เป็นการต่อสู้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่นำสืบมาคดีฟังได้ว่า โจทก์ได้รับการยกให้จากบิดาและได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจึงเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีราคา 25,000 บาท และ 30,000 บาทตามลำดับจึงเป็นคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท และโจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2536อันเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534 มาตรา 18ใช้บังคับแล้ว คดีโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามกฎหมายดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share