คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร เจ้าพนักงานกรมศุลกากรได้ประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลและในรายการที่สำแดงภาษีอากรมียอดเงินสำหรับอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแยกกันแต่ละรายการ ย่อมถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โดยเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากรแล้ว หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรเสียก่อนการที่โจทก์อุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากรมิใช่เป็นการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล โจทก์ซื้อสินค้าพิพาทจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศในราคาต่ำกว่าที่โจทก์เคยซื้อและสำแดงราคาในการนำเข้าครั้งก่อนเพราะผู้ขายซื้อจากผู้ผลิตได้ในราคาต่ำลง แต่เป็นการขายสินค้าในราคาปกติทั่วไป เพื่อจะให้ลูกค้าสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้มิใช่ลดหย่อนให้แก่โจทก์โดยเฉพาะเพียงรายเดียว แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาไม่เกินหนึ่งเดือนนับแต่การนำเข้าในครั้งก่อน ราคาของประเภทและชนิดเดียวกันก็มีราคาลดลงได้ อีกทั้งปรากฏด้วยว่าเมื่อโจทก์นำสินค้าชนิดเดียวกันเข้ามาในราชอาณาจักรภายหลังกรณีพิพาทนี้จำเลยก็ได้ยอมรับราคาที่ลดต่ำลงดังที่โจทก์สำแดงด้วย ยิ่ง สนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยได้ยอมรับว่าสินค้าพิพาทมีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดลดต่ำลง และฝ่ายจำเลยก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเป็นเท่าใด เพียงแต่อาศัยราคาที่โจทก์เคยนำเข้าในครั้งก่อนภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน มาเป็นเกณฑ์ประเมินราคาเท่านั้น จึงถือได้ว่าราคาสินค้าพิพาทที่ต่ำลงตามที่โจทก์สำแดงนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม 2530 ถึงวันที่25 กันยายน 2530 โจทก์ได้ซื้อวิทยุตามตัวพร้อมอุปกรณ์ครบชุดยี่ห้อโมโตโรล่า โมเดล เอ.04 พี.จี.บี. 4661 บี.พี.อาร์. 2000จากประเทศสหรัฐอเมริกา และนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ในราคาชุดละ164 เหรียญสหรัฐอเมริกา เอฟ.โอ.บี. ตามบัญชีราคาสินค้าที่ซื้อขายรวม 12 เที่ยว และใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ารวม12 ฉบับ โดยสำแดงราคาตามที่ซื้อมาจริง แต่เจ้าพนักงานของจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าตามที่โจทก์สำแดง ได้สั่งให้โจทก์เพิ่มราคาและคำนวณเงินค่าภาษีอากรจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเรียกเก็บเงินจากโจทก์เกินไปทั้งสิ้น 841,374 บาท โจทก์ยอมเพิ่มราคาและชำระค่าภาษีอากรตามจำนวนที่เจ้าพนักงานจำเลยกำหนดเพื่อนำสินค้าออกไปจากอารักขาของกรมศุลกากร แต่ได้โต้แย้งสงวนสิทธิอุทธรณ์ไว้ด้านหลังใบขนสินค้าทุกฉบับ และต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อกองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากร ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2531 จำเลยได้แจ้งผลการอุทธรณ์การประเมินอากรให้โจทก์ทราบว่า เจ้าพนักงานจำเลยได้ประเมินราคาชอบแล้ว โจทก์ซื้อสินค้าจากประเทศผู้ผลิตโดยตรงราคาสินค้าที่โจทก์ซื้อมาและสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าทุกฉบับเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การที่จำเลยใช้ราคาสินค้าเก่าซึ่งโจทก์เคยนำเข้ามา เมื่อปี 2429 มาเป็นเกณฑ์เพิ่มราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้ามารายพิพาท จึงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ขอให้พิพากษาว่าการประเมินของจำเลยไม่ชอบและเพิกถอนการประเมินดังกล่าว กับให้จำเลยคืนเงิน 841,374 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์เคยนำสินค้าเช่นเดียวกับสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรไทยรวม 8 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2530 โจทก์สำแดงราคาทั้ง 8 ครั้งในราคาเอฟ.โอ.บี. ชุดละ 195 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งเจ้าพนักงานจำเลยก็พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงดังกล่าว แต่ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม2530 โจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรไทยกลับสำแดงราคาเอฟ.โอ.บี. ชุดละ 164 เหรียญสหรัฐอเมริกา แตกต่างจากการนำเข้าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2530 โดยราคา เอฟ.โอ.บี.ลดลงถึงชุดละ 31 เหรียญสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่ระยะเวลาห่างกันเพียง 27 วันเท่านั้น สินค้าพิพาทตามใบขนสินค้าทั้ง 12 ฉบับในคดีนี้ โจทก์สั่งซื้อในคราวเดียวกัน เพียงแต่ได้แยกการนำเข้าซึ่งหากจะพิจารณาถึงปริมาณการนำเข้า ก็ปรากฏว่าในครั้งก่อน ๆโจทก์ก็เคยนำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมากเช่นกันดังนั้นปริมาณของสินค้าจึงไม่มีผลต่อราคา และสินค้าพิพาทก็ไม่ใช่สินค้าที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงราคารวดเร็ว ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงในคดีนี้ได้ลดลงถึง 15.90 เปอร์เซ็นต์ จึงมิใช่เป็นการปรับราคาตามปกติวิสัย ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงตามบัญชีราคาสินค้าจึงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดราคาสินค้าตลาดที่จำเลยใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาคือราคาสินค้าที่โจทก์เคยนำเข้ามาในเดือนเมษายน 2530 ซึ่งโจทก์ได้สำแดงราคา เอฟ.โอ.บี.ชุดละ 195เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาที่โจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 12 ฉบับในคดีนี้ระยะเวลาห่างกันเพียง 1-5 เดือนเท่านั้น จึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ทบทวนผลการพิจารณาการอุทธรณ์ราคาในคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งผลการอุทธรณ์การประเมินราคา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี อันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลที่ประเมินเพิ่มขึ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยตามฟ้องเกี่ยวกับอากรขาเข้า โดยให้ถือราคาชุดละ 164 เหรียญสหรัฐอเมริกาตามฟ้อง ส่วนการประเมินเกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลให้ยกฟ้องโจทก์ โดยให้เป็นไปตามที่จำเลยได้ประเมินไว้ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของยอดเงินที่ต้องชำระคืนแก่โจทก์ นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่จำเลยตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับเป็นต้นไป
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสินค้าของโจทก์รายนี้เจ้าพนักงานของจำเลยได้ประเมินตามกฎหมายศุลกากรมิใช่เป็นการประเมินตามประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่จำต้องอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร เพียงแต่โจทก์อุทธรณ์ต่อกรมศุลกากร โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรเจ้าพนักงานของจำเลยได้ประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล และในรายการที่สำแดงภาษีอากรก็มียอดเงินอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลแยกกันแต่ละรายการ ย่อมถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลโดยเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 (2) แล้ว หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรเสียก่อน การที่โจทก์อุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคากรมศุลกากร ขอให้พิจารณารับราคาสินค้าตามที่โจทก์นำเข้ามิใช่เป็นการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อศาล
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ถือตามราคาที่ซื้อมาชุดละ 164 เหรียญสหรัฐอเมริกา จำเลยโต้แย้งว่าโจทก์เคยซื้อมาในราคาชุดละ 195 เหรียญสหรัฐอเมริกา ในครั้งนี้โจทก์นำเข้าห่างจากครั้งก่อนไม่ถึงหนึ่งเดือน และราคาสินค้ามิได้ลดลงอย่างรวดเร็ว โจทก์มีนายสุธี ศุภวัฒนกุล และร้อยตรีแปลงคำเมือง เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.23 ว่า บริษัทผู้ขายได้ขายสินค้าพิพาทราคาต่ำลง เพราะผู้ขายซื้อจากผู้ผลิตได้ในราคาต่ำลงและเพื่อให้ลูกค้าสามารถแข่งขันกับราคาของผู้อื่นได้บริษัทแปซิฟิคเทเลซีส อินเตอร์เนชั่นแนล มีสาขาอยู่ ทั่วโลกและเป็นผู้ได้รับสิทธิในการจำหน่ายวิทยุตามตัวสินค้าพิพาทจากผู้ผลิตแต่ผู้เดียว เห็นได้ว่าการซื้อขายรายนี้โจทก์ซื้อมาในราคาชุดละ 164 เหรียญสหรัฐอเมริกาบริษัทผู้ขายได้ขายต่ำกว่าราคาที่เคยขายเดิม แต่เป็นการขายสินค้าในราคาปกติทั่วไปเพื่อจะให้ลูกค้าสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้ มิใช่ลดหย่อนราคาให้แก่โจทก์โดยเฉพาะเพียงรายเดียว แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาไม่เกินหนึ่งเดือนนับแต่การนำเข้าในครั้งก่อน ราคาของประเภทและชนิดเดียวกันก็มีราคาลดลงได้ นอกจากนี้ยังปรากฏว่า เมื่อโจทก์นำสินค้าชนิดเดียวกันเข้ามาในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าเอกสารหมาย จ.29 จ.25 และ จ.26เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 5 พฤศจิกายน และ 16 พฤศจิกายน 2530 ตามลำดับอันเป็นเวลาภายหลังกรณีพิพาทนี้ ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคากรมศุลกากรจำเลยก็ได้ยอมรับราคาชุดละ 164 เหรียญสหรัฐอเมริกาตามที่โจทก์สำแดงด้วย ตามหนังสือแจ้งผลอุทธรณ์การประเมินเอกสารหมายจ.27 ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยได้ยอมรับว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้ามีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดลดลง ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทเป็นราคาเท่าใดคงเพียงแต่อาศัยราคาที่โจทก์เคยนำเข้าในครั้งก่อนและเป็นเวลาห่างจากที่โจทก์นำเข้าในคดีนี้ไม่เกิน 6 เดือน มาเป็นเกณฑ์ประเมินราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่านั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่าสินค้าพิพาทมีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดชุดละ 164 เหรียญสหรัฐอเมริกาการที่เจ้าพนักงานจำเลยประเมินราคาเพิ่มขึ้นเป็นชุดละ 195เหรียญสหรัฐอเมริกา จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของยอดเงินที่ต้องชำระคืนแก่โจทก์ นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่จำเลยตามใบขนสินค้าเข้าแต่ละฉบับเป็นต้นไป โดยมิได้ระบุว่าให้ใช้จนถึงเมื่อใด และมิได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเช่นว่านั้นจนกว่าจะชำระเงินที่ต้องคืนให้แก่โจทก์เสร็จ
พิพากษายืน แต่ดอกเบี้ยของยอดเงินที่ต้องชำระคืนโจทก์นั้นให้จำเลยชำระจนกว่าจะชำระเงินที่ต้องคืนให้แก่โจทก์เสร็จ.

Share